ทางสายกลางของแต่ละคน
ผู้คนในชนบทมีทางสายกลางแบบผู้คนในชนบท ผู้คนในเมืองมีทางสายกลางแบบผู้คนในเมือง ปราชญ์ในชนบทมีทางสายกลางแบบปราชญ์ในชนบท ปราชญ์ในเมืองมีทางสายกลางแบบปราชญ์ในเมือง ทางสายกลางของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ในมิติของการใช้ชีวิตประจำวัน การดำรงอยู่บนทางสายกลางจึงไม่ใช่การพยายามปรับตัวให้เป็นแบบคนอื่น ที่เราเห็นว่าดี แต่คือการมีสติรู้ตัวเอง ว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไร ให้พอเหมาะ พอดี เหมาะสมกับตัวเอง เกิดประโยชน์ โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น สามารถนำพาชีวิตให้เจริญได้
การมีสติปรับสมดุลให้กับจิตใจ เมื่อฟุ้งซ่าน ก็นิ่งดูกาย เมื่อกังวล ก็เพิ่มกำลังทักษะ เมื่อเหนื่อยก็ผ่อนพักและ เมื่อเบื่อหน่าย ก็ต้องสร้างความท้าทายที่มากขึ้น การปรับกาย ปรับใจ ให้เกื้อหนุนสมาธิ บางคนชอบนั่งพื้นก็นั่งพื้น นั่งเก้าอี้แล้วเกิดสมาธิดีก็นั่งเก้าอี้ หรือ จะยืน จะเดิน จะนอน ก็ปรับสัดส่วน ให้เป็นไปเพื่อความเจริญในการปฏิบัติ สำหรับการฝึกเจริญสติเบื้องต้น ก็กำหนดรู้ให้พอเหมาะ พอดี เพื่อดึงสติสู่ฐาน กาย เวทนา จิต ธรรมได้ โดยไม่เผลอ เหม่อลอย หรือ เพ่งเคร่งเครียดจนเกินไป นี่คือ ทางสายกลาง ในการปฏิบัติ
ทางสายกลางของการอยู่ร่วมกัน
หากคนในชุมชนใจกว้าง ลดความเห็นในการแบ่งแยก ย่อมสามารถมีความคิดเห็นร่วมกันได้ มองเห็นว่าแต่ละคนประกอบด้วยความหลากหลาย และ มีสิ่งที่เกื้อหนุนเติมเต็มซึ่งกันและกัน ให้เกิดความเจริญได้ แม้อยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะใหญ่ ก็สมัครสมานสามัคคีกันได้ อยู่กันอย่างเป็นสุขได้ แต่หากคนในชุมชนเป็นคนใจคับแคบ มีความเห็นในการแบ่งแยก ไม่สามารถปล่อยวางในความคิดเห็นของตนได้ แม้อยู่ลำพังก็มักพร่ำบ่น เบียดเบียนตัวเองให้เป็นทุกข์อยู่ทุกขณะ ดังนั้นแล้ว นอกจากจะคำนึงถึงความพอเหมาะ พอดีของตัวเอง ยังควรคำนึงถึงความพอเหมาะ พอดี ที่จะเกื้อกูลให้เกิดประโยชน์สุขในแบบภาพรวม ต่อชุมชน ต่อสภาพแวดล้อมด้วย นี่คือ ทางสายกลางของการอยู่ร่วมกัน
กิจกรรม : เดินวงกลม สนทนาสะท้อนธรรม วันที่ 8 สิงหาคม 2558 ที่ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ |
ปัญญาในทางสายกลาง
ถึงแม้ว่าบริบทที่แตกต่างกัน จะทำให้การดำเนินชีวิตบนทางสายกลางของแต่ละคน แต่ละชุมชน แตกต่างกันไป แต่หากมองอย่างลึกซึ้งจะพบว่า ถ้าแต่ละคน แต่ละชุมชนนั้น ต่างดำเนินอยู่บนทางสายกลางของตัวเอง ความพอเหมาะ พอดีนั้น ย่อมนำมาซึ่งความสงบสันติภายใน เช่นเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกัน เมื่อมีความสงบสันติในจิตใจ ก็จะทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ มีจิตใจที่กว้างขวางอยู่เหนือตัวตน นี่คือ ปัญญา
การไม่ลุ่มหลงในรสสุขทางสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เสียจนเพลิดเพลิน (กามสุขัลลิกานุโยค) และ การไม่ทนทุกข์ทรมานกายให้ลำบากไปเปล่าๆ (อัตตกิลมถานุโยค) การมีชีวิตด้วยความพอเหมาะ พอดี เกื้อหนุนให้ชีวิตเจริญ นั่นคือ ทางสายกลาง