วันที่ 3 – 7 เมษายน 2557 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ธรรมภาคี สวนโมกข์ กรุงเทพฯ องค์กรทางพระพุทธศาสนามากมาย ได้ร่วมกันจัดมหกรรมงานวัด (temple fair) กลางกรุง บนห้างสรรพสินค้า สยาม พารากอน ชื่องานว่า งานวัดลอยฟ้า จิตตนคร ในงานนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปรับใช้พระพุทธศาสนาด้วยการเล่าเรื่องย่อ จิตตนคร นครหลวงของโลก พระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก* ให้กับผู้ที่มาร่วมชมงาน ที่สนใจ รับรู้เรื่องราวในพระนิพนธ์ แบบพอสังเขป ในแบบสนุกสนาน เข้าใจง่ายๆ ภายในเวลา 20-30 นาที
จิตตนคร เป็นนครหลวงของโลก เป็นแหล่งเกิดแห่งสุข ทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม สมบัติ และ วิบัติแห่งโลกทั้งสิ้น เป็นเมืองลับแล ไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เห็นได้ด้วยตาใจ เมื่อทำความสงบจิตดู
เหตุการณ์สำคัญ ในวันปีใหม่ แห่งจิตตนคร เจ้าเมืองจิตตนคร นามว่า จิตตราช กล่าวคำปราศัย และ คำอวยพร แก่ชาวเมือง เจ้าเมืองกล่าวสรุป ถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ความสุข ความทุกข์ ทั้งสิ้น ในรอบปี กล่าวขอบคุณ คู่หูทั้ง 2 คน ผู้มีนามว่า สมุทัย และ บารมี
ท่านสมุทัย มองว่าตัวเองเป็นผู้สร้างความสุข ไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์ ท่านมีนิสัยนิยมชมชอบความสุข แบบไร้ขอบเขตจำกัด ในงานปีใหม่นี้เอง ท่านได้แถลงนโยบาย ที่ชาวเมืองเปิดรับ โลโภ โทโส และ โมโห เพื่อให้สัมผัสทั้ง 5 ของชาวเมืองทุกคน ต่อตรงเข้าสู่ความสุขต่าง ๆ ในจิตตนครได้
เมื่อเห็นดังนั้น ท่านบารมี กล่าวให้ชาวเมืองระวัง ทบทวนเรื่องราวที่ผ่าน ด้วยสติ ปัญญา ขอให้ชาวเมืองยับยั้งจิตใจ แต่ชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่สนใจคำสอนของท่านบารมี กลับสนใจที่จะเปิดรับ โลโภ โทโส และ โมโห มากกว่า
ชาวเมืองจิตตนครบางคนไม่เห็นด้วย กล่าวว่า ท่านสมุทัย กำลังปูทางหาเสียง แต่ก็ถูกชาวเมืองส่วนใหญ่ที่เปิดรับ โลโภ โทโส และ โมโห ต่อว่าความคิดนั้นด้วยอาการดุดัน จากโทโสที่ติดตั้งเข้าไปแล้วนั่นเอง
เหตุการณ์บานปลาย ชาวเมืองที่เปิดรับ โลโภ โทโส และ โมโห ต่างใช้ตัว โลโภ โทโส โมโห ของตน ในการกดขี่ข่มเหงผู้อื่น ด้วยอาการ ไม่มีอิ่ม ไม่มีเต็ม ไม่มีพอ (ตัณหา) ในขณะที่ โมโห ยังทำให้ชาวเมืองติดแน่นอยู่กับความสุข หยุดนิ่ง ไม่ทำสิ่งใดเลย
เจ้าเมืองจิตตนครก็ทรงหลงผิด พอพระทัยในความสงบของชาวเมือง ในขณะที่ท่านบารมี เห็นด้วยกับการปล่อยวาง แต่ไม่ใช่การปล่อยปะละเลยของชาวเมืองที่เกิดจากตัวโมโห
ระบบสื่อสารของจิตตนคร (วิญญาณ 6) แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นนอก และ ชั้นใน โดยชั้นนอก แบ่งเป็น 5 ระบบ ได้แก่ ระบบตาเมือง ระบบหูเมือง ระบบจมูกเมือง ระบบลิ้นเมือง และ ระบบกายเมือง ทั้ง 5 ระบบนี้ จะส่งข้อมูลต่อไปยังระบบชั้นใน คือ มโน เพื่อประมวลผลชั้นสุดท้าย ก่อนส่งต่อให้พระเจ้าจิตตราช
ภายหลังโลโภ โทโส และ โมโห เข้าประจำการ ท่านสมุทัย ยังได้ทำการเพิ่มความลุ่มหลงทางเพศให้กับชาวเมือง นับว่าเป็นความลุ่มหลงที่ไม่มีสิ่งใดเกิน
ในห้วงขณะนี้ ท่านบารมี ได้แต่คอยดูอยู่ห่างๆ และ ซุ่มตระเตรียม 3 พลพิทักษ์ คือ ศีล หิริ และ โอตตัปปะ ทั้งหมดได้มาปรึกษาหารือกัน เพื่อพัฒนาโปรแกรม “วินัย”
โดย นายพลศีล จะทำหน้าที่พิทักษ์ทุจริตทั้งปวง ปกป้องไตรทวาร นายพลหิริ จะทำหน้าที่พิทักษ์จิตใจให้มีความละอายต่อบาป และ นายพลโอตตัปปะ จะทำหน้าที่พิทักษ์จิตใจให้มีความเกรงกลัวต่อบาป
เมื่อชาวเมืองเกิดการแก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น กันเอง จนถึงขีดสุด ชาวเมืองก็ต้องการ Upgrade พลัง โลโภ โทโส โมโห พร้อมติดตั้งอาวุธทำลายล้างใหม่ 16 อย่าง (อุปกิเลส 16) ชาวเมืองที่ต้องการใช้อาวุธทำลายล้าง ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพลังชีวิต (ธาตุ 4) ในร่างกายตัวเอง ญาติพี่น้อง หรือ คนงานที่มี
เจ้าเมืองจิตตราชเกิดอาพาส (เริ่มต้นรู้ทุกข์) ท่านบารมี จึงได้โอกาสเข้าถวายการรับใช้ และ มอบ สติสัปปคทา (สติ สัปปชัญญะ) จากพระบรมครู (พุทธะ) ให้กับเจ้าเมือง พร้อมนำ 3 พลพิทักษ์ เข้ารับใช้ ได้แก่ นายพลศีล นายพลหิริ และ นายพลโอตตัปปะ
เมื่อเจ้าเมืองตั้งสติสัปปคทาขึ้น จึงเห็นตามจริงว่า มโน ถูกครอบงำด้วย สมมติ และ ปรุงแต่ง จึงอนุญาติให้ พลพิทักษ์เข้าประจำการ เผยแผ่พระธรรมคำสอนจากพระบรมครูให้กับชาวเมืองได้ พร้อมเหล่าจิตอาสา เริ่มเข้าช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับชาวเมือง
ท่านสมุทัย นำโมโห ที่อัพเกรดสูงสุด เข้าถวายตัว ให้เจ้าเมืองจิตตนคร โดยอ้างว่าเพื่อมาดูแลสุขภาพให้กับเจ้าเมือง แทนหมอหลวง รับความรู้สึกต่างๆ แทนเจ้าเมือง ทำให้เจ้าเมืองเคลิบเคล้ม หลงใหล เผลอวางสติสัปปคทา แต่ท่านบารมี ก็มาช่วยเหลือ ทำให้เจ้าเมืองตั้งสติสัปปคทาขึ้นตามเดิม เหลือแต่เพียงชาวเมืองที่ยังมีอาการหลงใหลอยู่
ท่านสมุทัย ลาเจ้าเมืองจิตตนครไปออกบวช แล้วเรียกคู่หูคนสนิท คือ ท่านอาสวะ มาฝากตัวรับใช้ ถวายงานแทนตน นอกจากนี้ ท่านอาสวะยังมาพร้อมกับเพื่อนสนิท คือ ท่านอนุสัย ที่เป็นต้นตระกูลของหัวโจกทั้ง 3 คือ โลโภ โทโส และ โมโห อีกด้วย
ภายหลังการบวชของท่านสมุทัย ท่านกลับตั้งตนเป็นศาสดา ตั้งศาสนาใหม่ ชื่อ สมุทยศาสนาขึ้น มีหลักธรรมคำสอนในแบบตนเอง เน้นให้ความสุข ความสบาย อยากได้สิ่งใดต้องได้สิ่งนั้น มีความเพลิน ความยินดี เป็นอารมณ์ แล้วจะได้ขึ้นสวรรค์กันทุกคน (กล่าวว่า สมุทัย คือ เทพผู้เป็นราชาแห่งกามวจร นามว่า พระยาสวัตตีมาราธราช) ช่วงนี้เอง ชาวเมืองจิตตนครเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารย์ ถึงความแตกต่างระหว่างศาสนา
ท่านอาสวะ เสนอให้จัดงานเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสที่เจ้าเมืองจิตตนครทรงหายจากอาการประชวร แต่เมื่อชาวเมืองได้เห็นพระพักตร์ของเจ้าเมือง ต่างพากันร้องทักถึงความชรา ล่วงโรยลงไปมาก ต่างจากทุกครั้ง ที่มีแต่คำชื่นชมในความงาม สภาพเมืองจิตตนครในยามนี้ ก็ชำรุดทรุดโทรมลงไป เช่นกัน
สมุทัย เร่งรีบนำนายช่าง ตัณหา เข้าถวายการรักษาเจ้าเมือง และ ระบบเมืองต่างๆ แบบฉาบฉวย เพื่อหวังจัดงานเฉลิมฉลองใหม่อีกครั้ง เพียงเพื่ออวดผลงานนายช่างตัณหา และ แสนยานุภาพของกองทัพสังโยชน์ แม้ในยามนี้เมืองจิตตนคร กำลังเกิดสิ่งประหลาด มีภูเขาวงแหวน โอบรอบเมือง
งานเฉลิมฉลองเกิดขึ้นอีกครั้ง ท่านสมุทัย จัดเดินสวนสนามกองทัพสังโยชน์ ผูกใจชาวเมืองได้สำเร็จ ภายหลังการเดินสวนสนามของกองทัพสังโยชน์จบลง เมื่อความตื่นเต้นของชาวเมือง แปรเปลี่ยนเป็นความสงบ ชาวเมืองจึงมีเสียงเรียกร้องที่จะชมกองทัพใหญ่มรรค จากท่านบารมีด้วย ท่านสมุทัย เกิดความกระสับกระส่าย ท่านอาสวะปลอบโยนว่า กองทัพใหญ่มรรคจะไม่ออกมาเดินขบวนเป็นแน่ เพราะ ท่านบรมครูทรงสั่งสอนว่า การโอ้อวด แข่งดีกัน เป็นสิ่งไม่ควร
ในขณะที่ ท่านบารมี และ มรรคบดีทั้ง 8 กลับมีความเห็นร่วมกันว่า การแสดงกำลังของกองทัพมรรค ให้ปรากฏต่อสายตาชาวเมือง หาใช่การโอ้อวดไม่ แต่กลับถือว่า เป็นการประกาศแสดงพระธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวเมือง ที่สำคัญ คือ จะต้องกำหนดสถานที่ที่เหมาะสม โดยจะจัดขึ้นที่สนามหลวงใหญ่ กลางเมือง ณ ทาง 4 แพร่ง แห่งเดียว
การแสดงของกองทัพมรรค เริ่มต้นขึ้นด้วยการแสดงภัยแห่ง ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ชาวเมืองตระหนักรู้ถึงความจริง ฝ่ายสมุนทั้งหลายของสมุทัย ถึงกลับตกใจหนีกระเจิงไป ฝ่ายมรรคบดีจึงให้ชาวเมืองกลับสู่ความสงบ เคารพ น้อมใจ นมัสการถึงพระบรมครู จากนั้น จึงเริ่มเผยแผ่พระธรรมจากพระบรมครู ให้ชาวเมืองได้เข้าถึง สัมมาทิฏฐิ และ ชมขบวนกองทัพน้อยทั้ง 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ตามลำดับ จากนั้นกองทัพน้อยทั้ง 8 ได้แปรขบวนเป็นกองทัพพิเศษ 3 กองทัพ ได้แก่ กองทัพปัญญาสิกขา กองทัพสีลสิกขา และ กองทัพจิตตสิกขา ภายหลัง ชาวเมืองได้รับชมกองทัพมรรค จึงได้พบความจริงว่า สมุทัย ไม่ใช่ผู้นำความสุข แต่เห็นเหตุให้เกิดทุกข์
ในขณะนี้เอง ท่านบารมี และ มรรคบดี ได้สั่งการให้ สติ และ อินทรียสังวร เข้าคุมทวารชั้นนอก ชั้นใน ทั้ง 6 ส่วน (อีกฝ่าย คือ อารมณ์ กับ นิวรณ์) ศีล วินัย และ สุจริต 3 เข้าคุมไตรทวารอีกส่วนหนึ่ง (อีกฝ่าย คือ ทุจริต 3) หิริ โอตตัปปะ เข้าตรวจตรา เป็นนครบาล (อีกฝ่าย คือ พวกหัวโจกทั้ง 3 โลโภ โทโส โมโห และ พรรคพวกอันธพาลทั้งหลาย อุปกิเลส 16) สติ สัปปชัญญะ คุมการจราจร หรือ อิริยาบถ (อีกฝ่าย คือ อสติ อสัมปชัญญะ) สันโดษ คุมงานปันส่วนทรัพย์สิน (อีกฝ่าย คือ อิจฉา โลภะ มัจฉริยะ) สัมมาทิฐิ โยนิโสมนสิการ สัจจะ คุมสมองเมือง (อีกฝ่าย คือ มิจฉาทิฐิ อโยนิโสมนิสิการ และ มายา) อัปปมาทธรรม คุมใจกลางเมืองด้วยความไม่ประมาท (อีกฝ่าย คือ ปมาทธรรม) และ กองทัพมรรค ยังคงคุมทางสี่แพร่งใจกลางเมือง (อีกฝ่าย คือ กองทัพสังโยชน์) ท่านบารมีเข้ากำกับห้องส่วนในของพระเจ้าจิตตราชอยู่ด้านหนึ่ง (อีกด้าน คือ ท่านอาสวะ ภายใต้คำบัญชาของ ท่านสมุทัย) สงครามชิงจิตตนครกำลังจะเริ่มขึ้น
ภัยธรรมชาติ ที่รายล้อมเมืองคืบคลายเข้ามา ภูเขาวงแหวนหาใช่ภูเขากระดาษ อย่างที่สมุทัยคอยเป่าหูเจ้าเมือง ถึงครานี้ เจ้าเมืองรับรู้ตามจริงแล้วว่า ภูเขาวงแหวนนั้น ก็คือ ความแก่ ความตาย ไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ คับฟ้าได้ตลอดกาล เกิดธาตุรู้ที่แจ่มจรัสขึ้น จนพบว่ามิตรที่แท้จริง ก็คือ ท่านบารมีนั่นเอง
ในขณะที่ ท่านบารมีน้อมนำเรื่อง บุญกิริยาวัตถุ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา มาให้ชาวเมืองได้ปฏิบัติ พร้อมศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย อีกฝ่าย คือ สมุทัย อาสวะ สังโยชนบดี ก็ได้ประชุมวางแผนกันเพื่อเข้าควบคุมจิตตราชา จนเมื่อภูเขาวงแหวนเข้าบดขยี้เมือง ก็จะได้ลักพาตัวเจ้าเมือง ไปยังจุดนัดหมายพร้อมกับกองทัพสังโยชน์
ท่านบารมีเชิญทูตคู่ คือ สมถะ และ วิปัสสนา เข้าพบเจ้าเมืองจิตตนคร ในขณะเดียวกันนั้น กองทัพสังโยชน์ ก็เข้าโจมตี กองทัพมรรค
ท่านอาสวะ เข้าทูลว่ากองทัพของสมุทัย กำลังจะได้รับชัยชนะ ขอเชิญให้เจ้าเมืองได้ออกไปทอดพระเนตร แต่เจ้าเมืองกลับมองว่า สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ จึงยังคงอยู่กับทูตคู่ คือ สมถะ และ วิปัสสนา
ท่านบารมีเข้าทูลให้เบาพระทัยว่า กองทัพมรรค ย่อมชนะกองทัพสังโยชน์เป็นแน่ เจ้าเมืองจึงสิ้นนิวรณ์ พบทั้งความสงบ และ ปัญญา ความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจ 4) ปรากฏขึ้นแก่จิตตธาตุแห่งจิตตราชา
กองทัพสังโยชน์ ได้พ่ายแพ้แก่กองทัพใหญ่มรรค ทำให้ถอยร่นออกไป กองทัพมรรคติดตามไปจัดการกับกองทัพน้อย ทั้ง 3 ของทัพสังโยชน์ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส ได้สำเร็จเด็ดขาด ณ ขณะนั้นเอง ดวงตาเห็นธรรม ได้บังเกิดผุดแก่ พระเจ้าจิตตราช
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา” เจ้าเมืองจิตตนคร เป็นผู้พ้นภัยแห่งอบายภูมิทั้งปวง ประกอบด้วยความเลื่อมใสโดยไม่หวั่นไหว ในพระรัตนตรัย และ มีศีล 5 อันบริสุทธิ์ด้วยมรรค บรรลุโลกุตรธรรมชั้นโสดาบัน
===== จบ =====
ขอขอบคุณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ที่ให้โอกาสเป็นธรรมภาคี ในงานวัดลอยฟ้า จิตตนคร
“ในบรรดาสิ่งประณีตพิศดารต่างๆ แห่งจิตตนครนั้น นครสามี หรือ เจ้าเมือง เป็นความสำคัญที่สุด ไม่มีสิ่งใดสำคัญเท่า และ เจ้าเมืองแห่งจิตตนคร ก็คือ จิตนี้เอง หรือ ใจนี้เอง ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ คือ การกระทำใดๆ ก็ตาม คำพูดใดๆ ก็ตาม จะดีหรือชั่ว จะเป็นการส่งเสริม หรือ เป็นการทำลายจิตตนคร ก็ย่อมเนื่องมาจากนครสามี หรือ จิต หรือ ใจ นั่นแหละเป็นสำคัญ – สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก*”
* 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วชิราลงกรณราชาภินิษกรมณาจารย์ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร
Download : จิตตนคร นครหลวงของโลก