ผลผลิตจากความคิดเห็นที่จริงแท้ : shared vision

เรียนรู้ เรื่อง การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (building shared vision) ผ่านนิทาน เรื่อง ฟังเสียงภูเขาไฟ (Listening to the Volcano : conversations that open our minds to new possibilities) แต่งโดย David Hutchens สรุปเรื่องย่อพอสังเขป ได้ตามนี้เลยครับ

กาลครั้งหนึ่ง มีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาไฟที่คุกรุ่น ชื่อว่า หมู่บ้านต้นสน ผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ มีลักษณะพิเศษ คือ เมื่อพูดออกมา จะมีวัตถุที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลมๆ หล่นออกมาจากปากผู้พูดด้วย เรียกว่า แผ่นคำพูด คล้ายๆ กับนวนิยายไทย เรื่องพิกุลทองเลยแฮะ เวลาที่นางเอกพูดจะมีดอกพิกุลทองล่วงหล่นออกมาด้วย แต่ในนิทานเรื่องนี้ แผ่นคำพูดมีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมนะครับ ขนาดใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว ประมาณ 1 ตารางฟุตเห็นจะได้ โดยมีความหนาประมาณอิฐก้อนนึงเลยนะ

ความแปลกพิศดารของผู้คนในหมู่บ้านนี้ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องแผ่นคำพูดนะครับ ยังมี แผ่นความคิด อีกด้วย เพียงแต่แผ่นความคิดจะปรากฏออกมาให้เห็นเป็นบางครั้งเท่านั้น เมื่อชาวบ้านสงบนิ่งเพียงพอ จนเกิดเป็นความคิดแบบปิ๊งแว๊บขึ้นมา จึงจะเกิดเป็นแผ่นความคิดนะ ส่วนแผ่นคำพูดนั้น จะปรากฏออกมาทุกครั้งที่ชาวบ้านพูดเลยล่ะครับ

เรื่องราวดำเนินมาถึงฉากคับขัน ภูเขาไฟที่รายล้อมหมู่บ้านเกิดการประทุขึ้น ผู้คนในหมู่บ้านต่างแตกตื่น ต่างคนต่างพูดความคิดเห็นของตนออกมาอย่างหลากหลาย คำพูดต่างๆนั้น เต็มไปด้วยความวิตกกังวลจากปัญหาภูเขาไฟประทุ บ้างก็อุทานด้วยความกลัว บ้างก็พยายามหาหนทางเอาชีวิตรอดในหนทางที่แตกต่างกัน แต่ไม่มีใครฟังกันเลย นั่นก็เพราะ คำพูดต่างๆ ได้ตกลงบนพื้น กลายเป็นกำแพงปิดกั้นระหว่างผู้คนในหมู่บ้าน จึงไม่สามารถสื่อสารกันได้

shared-vision

ไมโล คือ บุคคลคนหนึ่งในหมู่บ้าน ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ (creative people) คือ ไม่ใช่ผู้ที่ตอบสนอง (reactive people) ต่อสถานการณ์แบบทันทีทันใด ไมโล เกิดปิ๊งแว๊บขึ้นได้ว่า ควรจัดประชุมรอบกองไฟ เพื่อหาหนทางให้ชาวบ้านได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แต่ก่อนหน้าที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ คงจะต้องมาช่วยกันคิดหาวิธีการสื่อสารกันก่อน ทำอย่างไรแผ่นคำพูดต่างๆ จึงจะไม่หล่นออกมามากมายจนปิดกั้นการสื่อสารระหว่างกัน

เรื่องราวดำเนินมาถึงฉากสำคัญ วันที่ภูเขาไฟประทุขึ้นอย่างแรง สถานการณ์คับขันถึงขีดสุด แต่ครั้งนี้ คำพูดของทุกคน หล่นลงพื้น ในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่กองระเนระนาดเหมือนทุกครั้ง ผู้คนในหมู่บ้านมีภาพวิสัยทัศน์ร่วมกัน (shared vision) ที่จะสร้างสะพานเพื่ออพยพเคลื่อนย้ายหนีการระเบิดของภูเขาไฟ แผ่นคำพูด แผ่นความคิด จึงหล่นออกอย่างมีทิศทางร่วมกัน ก่อประกอบกันขึ้นเป็นสะพาน ให้ชาวบ้านทุกคนข้ามพ้นสถานการณ์ภูเขาไฟระเบิดไปได้

สิ่งที่น่าสนใจจากนิทาน

การให้ความรู้ต่อกันเป็นเรื่องที่ดี แต่การใช้เวลาของส่วนรวม ไปกับการให้ความรู้เดิมของตัวเองมากเกินไป จะเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดที่สดใหม่ของตัวเองและผู้อื่น ควรระวังความรู้ที่คิดว่ารู้แล้ว เพื่อเปิดพื้นที่ว่างให้กับความเงียบ ความเป็นไปได้ จากปัญญาที่สดใหม่ เป็นปัญญาในปัจจุบัน เป็นปัญญาจากความไม่รู้มาก่อน

ผู้ที่ไม่กลั่นกรองคำพูด (reactive people) จะเสมือนกับมีแผ่นคำพูด ที่หล่นมากองระเนระนาด ปิดกันการสื่อสารระหว่างกัน ส่วนผู้ที่กลั่นกรองความคิดก่อนพูด (creative people) จะช่วยให้เกิดความคิดที่ดีๆ และ คำพูดที่ดีๆ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้

การนัดล้อมวงคุยกันรอบกองไฟจากตอนหนึ่งในนิทาน คือ ฉากของการค้นพบเครื่องมือการสื่อสารสำคัญ ที่เรียกว่า Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา เป็นวิธีการสื่อสารที่เน้นทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) บรรยากาศการสื่อสารในวงสุนทรียสนทนา เกื้อหนุนให้เกิดความคิดเห็นดีๆ ความคิดเห็นที่จริงแท้ของแต่ละคน ก่อประกอบเป็นวิสัยทัศน์ร่วม (shared vision)

เมื่อมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (shared vision) ความคิด คำพูด และ การกระทำของผู้คนในชุมชน จะมีคุณภาพอย่างมาก ต่อการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขร่วมกัน ภาพร่างชัด ภาพจริงปรากฏ เมื่อเห็นภาพเป้าหมายร่วมกัน ทุกคนก็ก้าวไปได้อย่างมั่นใจ  

dialogue

เพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับ Dialogue

ลักษณะของ Dialogue
เป็นกระบวนการพูดคุย ที่เชื่อมโยงจุดร่วม ของความคิดเห็นต่างๆ ไม่ใช่การแยกแยะแตกประเด็นปัญหาให้มากมายขึ้น เหมือนอย่างการอธิปราย (discussion)

การพูดในวง Dialogue
พูดเพียงเพื่อแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่การพูด เพื่อพยายามให้ได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง  ไม่คาดหวังว่าการพูดนั้นจะต้องถูกต้องสมบูรณ์ ไม่ออกอาการปกป้องความคิดเห็นของตนเอง พูดจากใจ เปิดเผยแบบค่อยเป็นค่อยไป จนเชื่อมโยงสู่ความคิดที่แท้จริง นอกจากการพูดที่แบ่งปันความคิดเห็นของตนแล้ว ยังรวมไปถึง การพูดเพื่อการซักถาม (inquiry) ความคิดเห็นจากผู้อื่น เพื่อให้ย้อนมาเห็นความคิดของตัวเอง เป็นพลวัตรให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

การฟังในวง Dialogue
คือ ฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ไม่ตัดสิน ปล่อยวางอคิติ ฟังอย่างใส่ใจ เฝ้าสังเกต สืบค้นเสียงภายในผู้พูด และ ตัวผู้ฟังเอง จนถึงขั้นปล่อยวางตัวตน เปิดพื้นที่ว่างให้ปัญญาชุดใหม่ปรากฏได้ การฟัง คือ ทักษะที่ต้องการการฝึกฝน เพื่อให้สามารถฟังได้ ด้วยใจที่เปิดกว้าง เป็นอิสระจากความอยากที่จะพูด แบบทันที ทันใด

ปัจจัยที่เกื้อหนุนการ Dialogue
สถานที่ที่เหมาะสม ท่ามกลางชุมชนที่ไว้ใจ และ บรรยากาศที่อบอุ่น เหมือนบ้าน มีความสบาย และ ความท้าทาย อยู่รวมกัน อย่างพอเหมาะ พอดี

แนวทางของ Dialogue
อาจแบ่งแยกได้ 2 แนวทาง คือ การสนทนาที่เกิดผล (productive conversation) เน้นหาทางออกร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จำเพาะเจาะจง และ ไดอะล็อกแท้ (pure dialogue) ไม่มีหัวข้อตายตัว เพื่อนำไปสู่การค้นพบใหม่ที่ลึกซึ้งร่วมกัน

งานเขียนที่เกี่ยวข้อง : จิตตปัญญา และ การสื่อสารที่จริงแท้

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments