จินตนาการข้ามขอบ : mental rehearsal

การซักซ้อมในจินตนาการ (mental rehearsal) คือ การจินตนาการเห็นภาพตัวเราเอง ในพฤติกรรมใหม่ๆ เช่น ออกกำลังกายยามเช้า ซ้อมกีฬาอย่างมีวินัย หรือ สามารถพูดต่อหน้าคนจำนวนมากได้อย่างมั่นใจ การซักซ้อมในจินตนาการ ช่วยรื้อสร้างพฤติกรรมที่เคยคุ้น โดยเข้าไปรื้อระบบสมองตอบโต้อัตโนมัติที่บันทึกอยู่ภายในสมองชั้นใน (reptilian brain) หรือ ก้านสมอง (core brain) เพื่อเขียนระบบสมองตอบโต้อัตโนมัติชุดใหม่ ที่มีคุณภาพมากขึ้นตามที่มุ่งมั่นตั้งใจ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในโลกความจริง

practice

พฤติกรรมหลายสิ่งอย่างที่มนุษย์ทำไปด้วยระบบสมองตอบโต้อัตโนมัติ เช่น การเขียนปี พ.ศ. ซ้ำๆ จนคุ้นชิน ทำให้เราเขียนปี พ.ศ. ออกมาต่อจากวันที่ และ เดือน โดยไม่ต้องใช้ความคิด ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด

พอข้ามจากปีเก่า เข้าสู่ปีใหม่ เรามักยังคงคุ้นเคย กับการเขียนปี พ.ศ. ของปีก่อน ทำให้เกิดความผิดพลาดในการเขียนโดยไม่รู้ตัวว่าผิดด้วยซ้ำ เรียกขั้นนี้ว่า การไม่รู้ว่าเราไม่สามารถ (unconsciously unskilled) แต่เมื่อรู้ตัวว่าผิด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีเพื่อนมาทักบอกให้แก้ หรือ เราอาจจะสังเกตพบข้อบกพร่อง แปลกแยกจากผู้อื่นด้วยตัวเอง เรียกขั้นตอนนี้ว่า การรู้ว่าเราไม่สามารถ (consciously unskilled)

mental rehearsalเมื่อรู้ว่าผิดพลาด แล้วแก้ไขใหม่ ฝึกซ้ำๆ ในสิ่งที่ไม่คุ้นชิน เรียกขั้นตอนนี้ว่า ฝึกฝืนจึงสามารถ (consciously skilled) ในขั้นตอนนี้ นอกจากการซักซ้อม ฝึกฝืนในโลกความจริงแล้ว มีงานวิจัยพบว่า การซักซ้อมด้วยความคิดจินตนาการ (mental rehearsal) ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้อย่างดี นักกีฬาโอลิมปิก จะใช้วิธีซักซ้อมในจิตนาการ ร่วมกับการซักซ้อมจริงในการเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันกีฬา

เมื่อผ่านการฝึกฝืนไปสักพักหนึ่งแล้ว เราก็จะสามารถทำสิ่งนั้นได้แบบอัตโนมัติ เป็นการทำได้โดยไม่ต้องคิดอีกครั้งหนึ่ง เช่น พอผ่านพ้นปีใหม่ไปสักเดือน สองเดือน เราก็จะเขียนปี พ.ศ. ได้อย่างถูกต้องโดยไม่คิด เรียกขั้นนี้ว่า ไม่ต้องฝืนก็สามารถ (unconsciously skilled)

สรุป ขั้นตอนการรื้อสร้าง ระบบสมองตอบโต้อัตโนมัติ

  1. การไม่รู้ว่าเราไม่สามารถ (unconsciously unskilled)
  2. การรู้ว่าเราไม่สามารถ (consciously unskilled)
  3. การฝึกฝืนจึงสามารถ (consciously skilled)
    และ การซักซ้อมในจินตนาการ (mental rehearsal)
  4. การไม่ต้องฝืนก็สามารถ (unconsciously skilled)

ตัวอย่างเรื่องการเขียน ปี พ.ศ. เป็นการชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาระบบสมองตอบโต้อัตโนมัติ แบบง่ายๆ เท่านั้น ความจริงในชีวิตของเรา ยังมีพฤติกรรมที่เราคุ้นชินอยู่มากมาย ที่รอการรู้ และ ฝึกฝืนข้ามขอบ เช่น พฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การพูดในที่สาธารณะ และ อื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับชีวิตของเรา ความคุ้นชินอะไรบ้างที่เราควรเปลี่ยนแปลง เรารู้แล้ว หรือว่า ยังไม่รู้ ?

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments