บวชเป็นพระซะทีดีมั๊ย : wholesome thoughts

แบ่งปันประสบการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน ที่เคยได้มีโอกาสบวชเรียน ในโครงการอุปสมบทพระสงฆ์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ปี 2556 โดย ยุวพุทธิกสมาคม แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระวิปัสสนาจารย์ จำพรรษาที่ยุวพุทธฯ ศูนย์ 4 ต.บ้านซุ้ง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับนามทางธรรมว่า “ธีรัญญ์ สุธโร”

งานเขียนนี้ เขียนขึ้นจากคำเชิญชวนของพี่ “ปรีชา แสนเขียว” จากยุวพุทธิกสมาคมฯ พี่ปรีชาเชิญชวนให้เขียนแบ่งปันเรื่องราว ว่าได้อะไรจากการเข้าร่วมโครงการอุปสมบทปฏิบัติธรรมจำพรรษา เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้สนใจบวชในรุ่นปี 59 และ รุ่นต่อๆ ไป เมื่อเขียนเสร็จแล้วรู้สึกว่า งานเขียนนี้จะเป็นแรงบันดาลใจกับทุกคนที่ได้อ่าน กระตุ้นความคิดดีๆ (wholesome thoughts) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วยครับ

การบวชเรียน มีประโยชน์ต่อชีวิตอย่างไร ?

wholesome thoughts1. สงบเบา คล่องตัว (thought free from selfish desire)

✿ ก่อนบวชผมน้ำหนัก 75 กิโลกรัม ภายหลังจากการบวชเหลือ 66 กิโลกรัม รู้สึกคล่องตัว เบาสบาย เมื่อร่างกายคล่องแคล่ว จิตใจก็โล่งเบาคล่องแคล่วตาม ประสิทธิภาพในการทำงานก็คล่องแคล่วตามไปด้วย

✿ ในการบวชเป็นพระกรรมฐาน เมื่อการปฏิบัติเข้าที่เข้าทาง เพียรเจริญสติอยู่ในกรรมฐาน ตามคำสอนของพระอาจารย์ ความต้องการในการฉันอาหารก็น้อยลงไป สุขจากสงบนั้นเพียงพอ การประมาณในการบริโภคก็เหมาะสมขึ้น ความกระฉับกระเฉงเข้ามาแทนที่ความง่วง เกื้อหนุนการปฏิบัติยิ่งขึ้นไปอีก

✿ ในแต่ละวันพระกรรมฐานจะ “ฉันอาสนะเดียว” คือ เมื่อนั่งลงอาสนะเริ่มฉันแล้ว หากลุกจากอาสนะคือจบ หมดสิทธิ์ฉันต่อในวันนั้น ช่วงสมาทานกรรมฐานตลอดพรรษา จะไม่มีการฉันเพลรอบก่อนเที่ยง เพื่อลดความยุ่งยากในการแสวงหาการกิน มุ่งเน้นใช้เวลาเพื่อการเพียรปฏิบัติ

✿ การฉันเช้าจะเริ่มเวลาประมาณ 7.30-8.30 น. สำรับภัตราหารคาวหวาน บางแห่งก็สัปปายะมาก คือ ถูกธาตุขันธ์ อาจแปลว่าถูกปากมากก็คงจะคล้ายกัน ถึงกระนั้นก็ควรพิจารณาอาหารมาแต่พอฉันแก้หิว ไม่ต้องพิจารณาอาหารมาเผื่อเพื่อนๆ นะครับ ^^

✿ การข้ามพ้นความ “อยากฉัน” จะเป็นสัญญาณบอกถึงการข้ามพ้นอาการ “จีวรร้อน” ของพระนวกะผู้บวชใหม่ เป็นสัญญาณที่บอกถึงว่าจะปฏิบัติได้ครบพรรษาแบบชิวๆ ได้อย่างแน่นอน เทคนิคการข้ามพ้นก็คือ ปฏิปทา หรือ ความตั้งใจในการปฏิบัติธรรมนั่นแหละครับ

2. รู้สึกได้ไว ปล่อยวางได้เร็ว (thought free from hatred)

✿ ในวิถีชีวิตประจำวัน เรามักจะได้ยินเสียงที่โดดเด่น ดังกังวาลที่สุด ในขณะที่เราพลาดโอกาสได้สัมผัสเสียงที่แผ่วเบาต่างๆ มากมายไป

✿ ความรู้สึกภายในจิตใจของเราก็เช่นกัน เราอาจสัมผัสความรู้สึกของตัวเองได้ชัด เฉพาะเมื่อมีอารมณ์โกรธจัดๆ คล้ายการได้ยินเฉพาะเสียงที่โดดเด่น ดังกังวาลที่สุด แต่เมื่อบวชเป็นพระกรรมฐาน ปฏิบัติจนเข้าที่เข้าทางสักระยะหนึ่ง ความโกรธพยาบาทนั้นจะลดตัวเล็กลง เปรียบเสมือนเสียงที่แผ่วเบา อาจเหลือเป็นเพียงความขุ่นเคือง เล็กๆ ภายในจิตใจ ให้ได้สัมผัสรับรู้ จากเรื่องราวเล็กๆน้อยๆ ที่เคยผ่านเลยการเอาใจใส่ของเราไป

✿ ในขณะเป็นพระพระกรรมฐาน เราจะรับรู้ความรู้สึกอันแผ่วเบาได้ง่าย รู้สึกผิดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ง่าย หรืออาจกล่าวได้ว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ถูกขยายให้เห็นได้ชัดขึ้น จากความสงบของเรา และ นั่นก็เป็นโอกาสที่ดีมากๆ ในการเข้าไปพิจารณาโลกด้านในอันละเอียดอ่อนของเรา เรียกสิ่งนี้ว่า “วิปัสสนา”

✿ โดยปกติแล้วการสนทนาธรรมเป็นเรื่องที่ดี แต่ในช่วงเวลาของการสมาทานกรรมฐาน การสำรวมวาจาเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติมากๆ วันไหนที่เผลอไปสนทนาธรรมกับพระเพื่อนถึงผลของการปฏิบัติ พอกลับมานั่งสมาธิล่ะก็ จะเต็มไปด้วยความคิดฟุ้งซ่าน ที่เกิดจากบทสนทนาเมื่อสักครู่นั่นแหละ แต่ไม่ต้องห่วงครับ เมื่อมีปัญหาจากการปฏิบัติเราสามารถปรึกษาพระอาจารย์ได้ตลอด และ นั่นก็เพียงพอให้เรางดการสนทนาธรรมกับพระเพื่อนได้ ถึงตรงนี้ รู้สึกเริ่มอยากลองปฏิบัติดูด้วยตัวเองแล้วใช่ไหมครับ

✿ ในการบวชพระ สมาทานกรรมฐานตลอดพรรษา เราจะได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติ จนเข้าใจคำว่า “สักแต่ว่า” และ สามารถเข้าถึงคำว่า “สักแต่ว่า” ได้มากกว่าที่เคย จากเดิมที่เคยพยายามทำความเข้าใจด้วยความคิด ก็จะได้เข้าถึงใจผ่านการปฏิบัติจริง

✿ “สักแต่ว่า” ประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติเพื่อเปิดสัมผัสรับรู้ปัจจุบันขณะ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ในขณะที่ การเปิดให้เกิดการรับรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยให้เกิดการปล่อยวางการรับรู้เดิมไปในตัว การปล่อยวางสิ่งต่างๆ จึงทำได้ดีขึ้นนั่นเอง

✿ การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกได้ดี จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่น เพิ่มจิตใจที่มีเมตตา ส่งผลที่ดีในสัมพันธภาพ ลดความรู้สึกแบ่งแยก ส่วนการปล่อยวางที่ดีนั้น จะช่วยให้เราข้ามพ้นจากอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ สามารถดำรงอยู่กับปัจจุบันได้อย่างมั่นคง เมื่อเผชิญกับปัญหา สามารถมองเห็นหนทางคลี่คลายปัญญา และ หนทางใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ได้ดีขึ้น

profile_mentality

3. ได้ให้ทาน ด้วยใจที่เบิกบาน (thought of non-violence)

✿ กิจวัตรประจำวันของพระกรรมฐาน นับเริ่มจากตี 4 หรืออาจก่อนหน้านั้น ขึ้นอยู่กับความพอเหมาะพอดีในการปฏิบัติของแต่ละท่าน ที่จะตื่นนอนมานั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา และ ทำวัตรเช้าร่วมกัน ทุกๆเช้าก็จะมีการแผ่เมตตา และ อุทิศสวนกุศลให้กับสรรพจิต จนถึงเวลาประมาณ 6 โมงเช้า ก่อนออกไปบิณฑบาต

✿ ในช่วงเวลาของการบิณฑบาตยามเช้า พระนวกะผู้บวชใหม่จะได้สัมผัสถึงความประทับใจที่หลากหลาย แตกต่างกันออกไป เป็นช่วงเวลาแห่งน้ำทิพย์ชโลมใจ ที่ช่วยเกื้อหนุนให้พระนวกะผู้บวชใหม่มีกำลังใจ ในการครองสมณะเพศได้ด้วยความมั่นคง เสริมสร้างปฏิปทาต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม

✿ ในช่วงถวายภัตราหารยามเช้า พระนวกะผู้บวชใหม่จะได้มีโอกาสสลับกันเป็นตัวแทน กล่าว “สัมโมทนียกถา” คือ การพูดแสดงความขอบคุณ หรือ กล่าวถึงอานิสงส์ของความดีที่ญาติโยมผู้มาทำบุญยามเช้าได้ทำ ส่งผลให้จิตใจเกิดความแช่มชื่นเบิกบาน ถือเป็นโอกาสดีของพระนวกะ ผู้บวชใหม่ ได้ให้ธรรมเป็นทาน ในช่วงเวลาที่มีศีลบริบูรณ์ 227 ข้อ

✿ การสละเพศฆราวาสออกบวช เพื่อศึกษาประพฤติธรรม เป็นประเพณีที่งดงาม ที่กุลบุตรจะได้ตอบแทนบุญคุณของบุพการี ให้ผู้มีพระคุณได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในร่มกาสาวพัสตร์ เกิดจิตใจที่ร่มเย็น เมื่อมีบุตรหลานได้บวช พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ก็ถือว่าได้เข้ามาเป็นญาติธรรมในพระบวรพุทธศาสนาด้วย

✿ การให้ที่สำคัญอีกอย่างของการบวชพระก็คือ “การให้อภัย” ทันทีที่บวชเป็นพระ สมาทานกรรมฐาน จะมีการกล่าวขออโหสิกรรม และ ให้อภัยกับทุกการกระทำ ทุกเหตุการณ์ที่ขัดเคืองใจในอดีตทั้งหมด เพื่อเข้าสู่การปฏิบัติธรรมตามแนวทางสติปัฎฐาน 4 ด้วยศีลที่บริบูรณ์ ไร้ความเดือดเนื้อร้อนใจ (อวิปปฎิสาร) จึงกล่าวได้ว่า การบวชพระ คือ โอกาสสำคัญของการ “ได้ให้ทาน ด้วยใจที่เบิกบาน”

profile_giving

✿ หลังพรรษาได้เดินทางไปปฏิบัติต่อที่ดอยภูโอบ จ.เชียงใหม่ กับเพื่อนพระอีก 2 รูป โดยเดินทางผ่านทางพระพุทธบาท 4 รอย เลยขึ้นไป ก็จะคือศูนย์ปรมัตถภาวนาดอยภูโอบ สำนักวัดมเหยงคณ์ มีพระจำวัด 3-4 รูป มีกุฏิไม้ว่างหลายหลัง ตั้งอยู่ยอดดอย บรรยากาศเงียบสงบถึงขีดสุด

✿ ภายหลังจากการลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส พบว่า ความสำเร็จในชีวิต ที่เคยเกิดขึ้นด้วยความยากลำบาก ต้องอดทน ฟันฝ่าอย่างหนัก ได้กลับกลายเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างสบายๆ ด้วยจิตใจที่โล่งเบา มีเวลาว่างได้มากขึ้น สามารถเข้าร่วมงานจิตอาสา เป็นกระบวนกรสะท้อนปัญญา ให้ความรู้แฝงคติธรรมในโอกาสต่างๆ การบวชพระในครั้งนี้ จึงถือว่า ช่วยปรับชีวิตให้สมดุลได้ชัดเลยครับ

Inspired by right thought and wholesome thought (สัมมาสังกัปโป และ กุศลวิตก 3 ได้แก่ เนกขัมมวิตก, อพยาบาทวิตก และ อวิหิงสาวิตก)

งานเขียนที่เกี่ยวข้อง : การทำในสภาวะหนึ่ง

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments