เฝ้าสังเกต รับรู้ตามจริง : Observation

communicationปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารมีจำนวนมากมายมหาศาล และ ถูกแชร์ส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เราก็ช่วยกันรณรงค์ว่า อย่าแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่จริง ข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่ไม่จริง แล้วเราจะใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างไร

เทคนิคหนึ่งในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ก็คือ การแยกแยะว่า ข้อมูลนั้นเกิดจากการตีความ (Interpretation, Evaluation) หรือ เกิดจากการสังเกต (Observation)

  • การตีความ (Interpretation, Evaluation) จะประกอบด้วยการคาดเดา หรือ การตัดสินของผู้ส่งสารเข้ามาร่วมด้วย ลักษณะคำพูดที่เกิดจากการตีความ เช่น “คุณมาสายนะ” มักสร้างความรู้สึกไม่ดีนักต่อคนฟัง เช่น อาจรู้สึกเหมือนกำลังถูกต่อว่า
  • การสังเกต (Observation) คือ การระบุเวลา สถานที่ และ สภาพแวดล้อม ตามความเป็นจริง แทนที่จะพูดว่า “คุณมาสายนะ” ก็สามารถพูดแบบสังเกตตามจริงไปว่า “ตอนนี้ 7 โมง ฉันคิดว่าคุณจะมาถึงตอน 6 โมง” รวมถึงการพูดความคิดเห็นของตัวเองออกไปอย่างรับผิดชอบ เช่น พูดว่า “ฉันคิดว่า พวกเขาจะชนะในการแข่งขัน” นี่ก็ถือว่าเป็นการพูดจากการสังเกตตามจริง เพราะคำพูดเกิดจาก การสังเกตความคิด ความรู้สึกของตัวเอง

run NVC

ในชีวิตประจำวันนั้น เราจำเป็นต้องสื่อสารทั้งแบบสังเกต (Observation) และ แบบตีความ (Interpretation, Evaluation) รวมถึงบ่อยครั้ง เราก็ต้องสื่อสารแบบผสมผสานกันไป การสังเกตช่วยบอกข้อเท็จจริง การตีความช่วยเสริมอารมณ์ ตัวอย่างเพิ่มเติม เสริมสร้างความเข้าใจ

  • คำพูดแบบตีความ : “เมสซี่ แพ้แล้วเลิกเล่นฟุตบอลไปเลย”
    คำพูดแบบสังเกต : “เมสซี่ ประกาศแขวนสตั๊ดในนามทีมชาติ”
  • คำพูดแบบตีความ : “คุณเป็นคนจิตใจดี”
    คำพูดแบบสังเกต : “ฉันเห็นคุณเลี้ยงอาหารเด็กๆ ฉันคิดว่า คุณจิตใจดี”
  • คำพูดแบบตีความ : “เขาเป็นคนผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่ตั้งใจเรียนเอาซะเลย”
    คำพูดแบบสังเกต : “เขาอ่านหนังสือ เฉพาะในคืนก่อนสอบเท่านั้น”
  • คำพูดแบบตีความ : “ถ้าคุณไม่กินผักผลไม้ คุณจะสุขภาพแย่แน่”
    คำพูดแบบสังเกต : “ถ้าคุณไม่กินผักผลไม้ ฉันเกรงว่า คุณจะสุขภาพแย่”
  • คำพูดแบบตีความ : “เขาโกรธฉันอย่างไร้เหตุผล”
    คำพูดแบบสังเกต : “เขาพูดจาเสียงดังกับฉัน แล้วชกไปที่ประตู”
  • คำพูดแบบตีความ : “เขาเป็นคนพูดมาก ในที่ประชุม”
    คำพูดแบบสังเกต : “เขาพูดอย่างต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง ในที่ประชุม”

news

เมื่อเราสามารถแยกแยะข้อมูลแบบสังเกต (Observation) ออกจาก ข้อมูลแบบตีความ (Interpretation, Evaluation) จะช่วยให้เราสามารถใช้การพูดแบบสังเกต (Observation) เพื่อสร้างความเข้าใจตามจริงต่อผู้ฟัง และ ช่วยให้เรา พร้อมรับผิดชอบต่อการพูดแบบตีความ (Interpretation, Evaluation) ของตัวเอง รวมถึงสามารถใช้วิจารณญาณในการรับ หรือ ส่งต่อข้อมูลออกไป ได้อย่างสร้างสรรค์

คราวนี้ลองไปดูสิครับว่า ข้อความต่างๆ บน facebook ของเราและเพื่อนๆ ของเรา เป็นข้อมูลแบบสังเกต (Observation) หรือ เป็นข้อมูลแบบตีความ (Interpretation, Evaluation)

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments