รันกระบวนการ งานกระบวนกร : run wisdom process

กระบวนกร (facilitator) คือ ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ในขณะที่ กระบวนกรแบบจิตตปัญญา (contemplative facilitator) คือ ผู้นำพากระบวนการเรียนรู้ เหนี่ยวนำให้เกิดการค้นพบสรรพวิชาจากด้านใน เกิดการก้าวพ้นข้อจำกัด ขยับขยายพื้นที่ของจิตใจ โดยที่สุดแล้ว กระบวนกร คือ ผู้นำพาให้เกิดชุมชนที่ทุกคนฝึกปฏิบัติร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ (community of practice)

งานเขียนนี้ ผู้เขียนได้ตกผลึกกระบวนท่าพื้นฐานสำหรับการรันกระบวนการ จากประสบการณ์ตรงในการเป็นกระบวนกรแบบจิตตปัญญา (contemplative facilitator) แบ่งกระบวนการ ออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ รู้ (comprehension) ละ (abandonment) เห็น (realization) และ ทำ (practices)

RUN WISDOM PROCESS

หนึ่ง) รู้ : comprehension

สร้างพื้นที่ปลอดภัย มีชุมชนแห่งความกรุณา (compassionate community) โอบรับการเรียนรู้ จากนั้นนำพาผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ หรือ ประสบการณ์ใหม่ๆ เผชิญความไม่คุ้นชิน ที่พอเหมาะพอดี เพื่อให้ผู้เรียนได้กลับมาทบทวนอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นถึง ทรรศนะมุมมอง (points of view) แบบแผนทางความคิดที่คุ้นชิน (habits of mind) จนถึงที่สุด คือการได้เห็นกรอบอ้างอิง (frames of references) เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) รู้ถึงความเชื่อ มุมมองพื้นฐาน (worldview) รู้ถึงสภาวะย้อนแย้งทางความคิดภายในตนเอง (paradox) ยอมรับอีกด้านหนึ่งของชีวิต (shadow) ได้เห็นถึงจุดที่สามารถต่อยอด ปรับขยาย พัฒนาได้ภายในตนเอง

สอง) ละ : abandonment

นำพาผู้เรียนให้อยู่ในสมาธิ (flow state) พร้อมใคร่ครวญด้วยใจ (contemplative) ละวางจากการสะท้อนเนื้อหา (critical reflection of content) ละวางจากการสะท้อนกระบวนการ (critical reflection of process) ละวางจากการตัดสินผู้อื่น ละวางจากการตัดสินตนเอง นำพาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้จากด้านในตนเอง (inner practice) ละวางตัวตน ออกจากจุดยืนเดิม สะท้อนการเรียนรู้แบบย้อนกลับมาที่ตัวเอง การใคร่ครวญในตนเอง (critical self-reflection) เพื่อสืบสาวถึงเหตุปัจจัยที่ก่อประกอบขึ้นเป็นความรู้สึก ความคิด คำพูด และ การกระทำ (diagnosis of the origin) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการสนทนาเชิงวิพากษ์ (Critical discourse) หรือ วงสุนทรียสนทนา (dialogue , สภาวะในวงสนทนา)

runwisdom_process2

สาม) เห็น : realization

นำพาผู้เรียนให้กลับมาสู่ปัจจุบันขณะ (here and now) มีจิตที่สดใหม่ (beginner’s mind) ละวางความคิด ความเชื่อ (unlearn) แม้ได้เพียงชั่วคราวก็เพียงพอ เป็นช่วงเวลาที่อาจสั้นกระชับ แต่ทรงพลัง สามารถขับเคลื่อนสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) ให้เกิดมุมมองเชิงบวก (positive outlook) เห็นว่ามีคนอื่นเคยเป็นเหมือนกันกับเรา และ ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านั้นไปได้ เห็นสิ่งที่เป็นอยู่เป็นเรื่องสามัญ เห็นถึงความเป็นไปได้ (envisioning the solution) เห็นทางเลือกใหม่ๆ สัมพันธภาพที่เกื้อหนุน เปิดใจ กล้าหาญ (courage) พร้อมพัฒนาเปลี่ยนแปลง กล้าทำในสิ่งที่ไม่คุ้นชิน พร้อมเดินทางไปยังที่ใหม่ๆ ทำในสิ่งใหม่ๆ พร้อมเริ่มขั้นตอนการฝึกฝนตนเองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เป็นช่วงเวลาที่สัมผัสถึงพลังชีวิตที่แท้จริง

สี่) ทำ : practices

นำพาผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมแสดงหาความรู้ และ ทักษะที่จำเป็น ฝึกฝนทำซ้ำ (continuity) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เช่น ฝึกการสงบนิ่ง (stillness practices) การเจริญเมตตา ชื่นชมธรรมชาติ สร้างสรรค์งานศิลปะ ดนตรี ฝึกสะท้อนความรู้สึก ฝึกจดบันทึกการเรียนรู้ ฝึกเป็นจิตอาสา ออกค่าย ปลูกต้นไม้ ร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์ (relational practices) การฟังอย่างลึกซึ้ง เล่นเกมกระดาน ฝึกฝนผ่านการเคลื่อนไหว (movement practices) เดินสมาธิ โยคะ ไทชิ รำกระบอง หรือ ฝึกฝนผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ (ritual/cyclical practices) เป็นต้น จนในที่สุดกลายเป็นวิถีชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

สิ่งที่น่าสนใจในขั้นนี้ ก็คือ “การไม่ทำ ก็คือการทำแบบหนึ่ง” การปรับปรุงทีละเล็กทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า kaizen เกิดจากการลด ละ เลิก สิ่งเล็กๆ ที่ทำได้ทันที นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน

คิดว่าทำไม่ได้ทำ ทำไม่คิดจึงได้ทำภายหลังการฝึกฝนมากพอ จะเกิดสภาวะข้ามพ้นความคิด เข้าถึงความรู้สึกในขณะที่ทำ นำสู่การเกิดเกลียวพลวัฒการเรียนรู้ (knowledge spiral) หมุนกลับไปสู่ขั้นตอนที่หนึ่ง คือ “รู้” ขั้นตอนที่สอง คือ “ละ” ขั้นตอนที่สาม คือ “เห็น” และ ย้อนกลับสู่ขั้นตอนที่สี่ คือ “ทำ” อีกครั้ง เกลียวพลวัฒน์อาจจะมีความเร็วรอบแตกต่างกันไป เร็วหรือช้าแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีเรื่องใดเล็ก เรื่องใดใหญ่ ทุกรอบการเรียนรู้ คือ การบ่มเพาะ (cultivation) ทำให้กระบวนการเรียนรู้ภายในเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้นๆ จนในที่สุดจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติอยู่ภายใน ทุกครั้งที่ผ่านประสบการณ์ จะเกิดปัญญาชุดใหม่ (intuition) ไม่ติดในชุดความคิดเดิมๆ (mental model) เป็นการพบคุรุภายใน (inner teacher) เข้าใจสิ่งต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง โดยไม่ผ่านถ้อยคำ

runwisdom_process

กระบวนกรจิตตปัญญา (contemplative facilitator) จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนมิติด้านในมาก่อน เพื่อให้สามารถเท่าทันสภาวะของตนเอง (self-awareness) และ สภาวะของผู้เรียน (social awareness) เหนี่ยวนำให้เกิดการเรียนรู้ (mirror neurons) รับรู้สภาวะโดยรวม ยืดหยุ่นกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม เปิดพื้นที่ให้กับประสบการณ์ที่ไม่เป็นไปอย่างใจ ไม่เข้าไปจัดแจง เร่งผลลัพธ์ให้เป็นไปอย่างใจตนเอง มีหัวใจที่เปิดกว้าง (compassion) เปิดพื้นที่ให้กับการเรียนรู้ ทอดเวลา รอคอยได้  มีทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) และ การดำรงอยู่ (being , inter-being) ด้วยท่าทีเหล่านี้ คือ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า กระบวนท่าที่เลอเลิศทั้งมวล

แรงบันดาลใจของงานเขียนนี้ มาจากเรื่อง ญาณทัสสนะ 3 ได้แก่ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ โดย กิจจญาณ นั้นประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ปริญญา ปหานะ สัจฉิกิริยา และ ภาวนา นอกจากนี้ ยังหลอมรวมเชื่อมโยงได้กับ Emotional Intelligence, Transformative Learning, Experiential Learning Cycle , หลัก 7C จิตตปัญญาศึกษา , U-Theory , ปัญญา 3 ฐาน และ วงจรการเปลี่ยนแปลง TTM


 

กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ในการฝึกอบรมในปัจจุบัน

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments