ผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องราวขององค์กรสีเทอร์ควอยซ์ครั้งแรกกับ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู และ จากหนังสือ Reinventing Organizations โดย Frederic Laloux จึงจะได้ขอบันทึกไว้ในงานเขียนนี้ในช่วงต้น และ ในช่วงท้ายจะได้แบ่งปันประสบการณ์ตรง ที่ผู้เขียนเคยบริหารจัดการธุรกิจด้วยรูปแบบที่นอกกรอบ และ ไปสอดคล้องเข้ากับความเป็นองค์กรสีเทอร์ควอยซ์ค่อนข้างมากโดยบังเอิญ
หลัก 3 ประการ ขององค์กรสีเทอร์ควอยซ์
- เป็นองค์กรแบบจัดการตนเอง (self organizing system) เปิดโอกาสให้ทุกคน แม้เป็นคนรุ่นใหม่ประสบการณ์น้อย สามารถริเริ่มรังสรรค์ โครงการใหม่ๆ ได้ (pilot project) รวมถึงมีอำนาจในการบริหารจัดการ และ ตัดสินใจได้เอง ถือว่าเป็นโครงงานวิจัยและพัฒนาขององค์กร (research and development)
- คนในองค์กรดูแลซึ่งกันและกันอย่างรอบด้าน ทั้งชีวิตการงาน และ ชีวิตครอบครัว ใส่ใจสุขภาพร่างกาย จิตใจ และ ความสัมพันธ์ของพนักงานภายในองค์กร
- บ่มเพาะพัฒนาคน ให้เติบโตจากภายในอย่างเป็นธรรมชาติ (จิตตปัญญา) ด้วยเวลาที่เหมาะสม สั่งสมบารมี มีวุฒิภาวะแห่งสัตบุรุษ (eldership) ที่มากกว่าแค่การเป็นผู้นำตามตำแหน่ง
องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ ขับเคลื่อนด้วย 2 ขา
- กระบวนการปรึกษา (advice process)
ปรึกษาหารือ พร้อมให้อิสระในการตัดสินใจ และ การดำเนินงาน - การสะท้อนกลับ (feedback)
เปิดใจกว้าง สะท้อนกลับซึ่งกันและกันได้ แบบตรงมาตรงไปอยู่เป็นปกติ
แบ่งปันประสบการณ์ตรง
ย้อนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เมื่อ 7-8 ปีก่อน ผู้เขียนได้ก่อตั้งบรัษัท และ บริหารจัดการธุรกิจอย่างนอกกรอบ ปรากฏพบว่ามันมีความเป็นองค์กรสีเทอร์ควอยซ์ค่อนข้างมาก
ในตอนนั้น ผู้เขียนได้เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนภายในบริษัท เป็นผู้กำหนดโบนัสรายเดือนของกันและกัน ด้วยการให้คะแนนตามเกณฑ์ 7 ข้อ ซึ่งสามารถปรับปรุงเกณฑ์กันได้เอง ก่อนการคำนวณโบนัส จะทำการตัดคะแนนที่มากสุด และ ต่ำสุดในแต่ละข้อออกก่อน เพื่อลดคะแนนที่เกิดจากอคติทั้งเชิงบวก และ เชิงลบ จึงเริ่มคำนวณเป็นเงินโบนัสออกมา
เงินเดือนของพนักงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย แต่การดำรงตำแหน่ง คือ การได้ทำงานที่ถนัด และ เพื่อให้ทุกคนในองค์ ได้รับรู้ตรงกันว่า จะสนับสนุนเชื่อมต่องานกันอย่างไร
พนักงานแต่ละคนไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่ออวดศักยภาพให้กับหัวหน้างานเพียงคนเดียว แต่ศักยภาพที่เป็นธรรมชาติ ที่ทำเป็นปกติของแต่ละคน จะปรากฏชัดต่อสายตาทีมงานด้วยกันเอง
เปิดโอกาสให้พนักงานมีการสะท้อนความคิดเห็น รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยอย่างน้อยหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ เราจะได้มีโอกาสนั่งคุยกัน รับรู้ถึงสถานการณ์อย่างรอบด้านขององค์กร รวมถึงชีวิตส่วนตัวของพนักงานแต่ละคนด้วย เมื่อพวกเราได้รับ Feedback จากเพื่อนๆ อย่างเป็นปกติ ทำให้เราเติบโตขึ้นทั้งทางด้านทักษะ และ โลกด้านใน
งานประจำวัน ถูกขับเคลื่อนด้วยความสุข ที่เป็นไปตามธรรมชาติของพนักงาน และ เมื่อถึงคราวพิเศษ เช่น การออกงานจัดแสดงสินค้า (Event) พวกเราจะเปลี่ยนจากระบบการทำงานที่เรียนรู้ร่วมกันผ่านการอธิบายเหตุอธิบายผล มาเป็นการบริหารจัดการแบบเผด็จการ บนพื้นฐานความรักความเข้าใจ ที่มีให้กันมาก่อน โดยหากมีผู้นำหนึ่งคนได้ตัดสินใจ ทุกคนจะพร้อมใจกันทำตามโดยไม่ถาม การทำงานจึงว่องไวทันสถานการณ์ การสื่อสารที่สั้นกระชับ และ บางครั้งก็เพียงแค่มองตา การส่งต่องานก็เกิดขึ้นได้อย่างลื่นไหล ผ่านความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ เราอาจไม่ใช่องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ แต่ความสามารถในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ทำให้องค์กรของเราประสบความสำเร็จอย่างมาก เราสามารถทุบสถิติยอดขาย เติบโตขยายสาขา และ คว้ารางวัลความสำเร็จทางธุรกิจได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และระบบการบริหารจัดการเช่นนี้ ทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าขององค์กร (Ownership)