จิตวิญญาณเพื่อสังคม : spirituality for society

4 กันยายน 2559 ได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้กับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี อย่างใกล้ชิด ท่านมาบรรยายในหัวข้อ จิตวิญญาณเพื่อสังคม (spirituality for society)

ท่านสาธยายให้เห็นถึงที่มาของ วิกฤตอารยธรรม (civilization crisis) ที่เกิดขึ้นปลายยุคอุตสาหกรรม คำว่า “โลกาภิวัตน์” กลับไม่ใช่เพื่อการอยู่ร่วมกันดังความหมาย แต่กลับคือความสะดวกรวดเร็วทางด้านข้อมูลข่าวสาร การเงิน และ การขนส่ง ที่ส่งผลให้เกิดการถาถมความเจริญเข้าส่วนกลาง ส่งเสริมให้มนุษย์เห็นแก่ตัว พอกพูนอัตตาตัวตน

ในส่วนของทางออกนั้น ท่านพูดถึงการผุดบังเกิดแห่งยุคใหม่ เรียกว่า ยุคจิตสำนึกใหม่ (new consciousness) ซึ่งจะเกิดได้จากการได้ทำในสิ่งที่ชอบ อย่างปราณีต แล้วรวมกลุ่มกัน สำเร็จด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้ออกจากการยึดตัวตนเป็นศูนย์กลาง (self-center) เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน เข้าสู่การเป็นหนึ่งเดียวกัน เชื่อมโยงกลุ่มเป็นเครือข่าย

neuronal-network

การปฏิวัติสัมพันธภาพ หรือ อาจเรียกว่า ยุทธศาสตร์สมองส่วนหน้า (neocortex) ที่เป็นส่วนของสติ ปัญญา และ ศีลธรรม โดยให้ออกจากสังคมแบบระบบ top-down ที่มีส่วนไปกระตุ้นสมองชั้นใน (reptilian brain) ที่เน้นเพียงเรื่องการเอาตัวรอด เห็นแก่ตัว ให้เชื่อมโยงกลุ่มเป็นเครือข่าย เหมือนอย่างระบบของสมอง (neuronal network) ซึ่งเป็นระบบที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล และ ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างสูงสุด และ พูดถึงการทำงานของสมองชั้นกลาง (mammolian brain) ที่เป็นส่วนของความสามารถในการเข้าถึงและแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้

ในส่วนของการเรียนรู้นั้น ให้เราเรียนรู้ผ่านคน เพื่อเคารพคน ไม่ใช่เรียนรู้ผ่านตำรา แล้วเคารพตำรา ท่านสอนเรื่อง U-Theory ของ Otto Scharmer เพื่อให้เราเน้นการฟัง เพราะการฟัง จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ช่วยให้เกิดเป็นความเสมอภาคได้ ให้เรียนรู้ร่วมกัน ด้วยความเสมอภาค และ ความสุข โดยเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง (interactive learning through action) เรียนรู้ผ่านความจริง ด้วยประสบการณ์ ไม่ใช่เรียนรู้ผ่านการคิด และ ด้วยความซับซ้อนของสังคมที่อยู่ร่วมกันหลายคน การเรียนรู้จึงไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จตายตัวได้

จิตสำนึกใหม่ (new consciousness) ไม่ใช่การตัดสินถูกผิด จากทางเลือกที่จำกัด ชวนให้ตีบตัน แต่ต้องมีหลายทาง (multiple pathway) และ ให้มองในมิติแบบเป็นเหตุปัจจัย สิ่งนี้เป็นเหตุให้เกิดสิ่งนี้ เห็นเป็นองค์รวม แทนการคิดแบบแยกส่วน ที่ชวนให้เปรียบเทียบ เกิดความรุนแรง และ แบ่งแยก

ท่านอ้างถึง หนังสือ Consciousness Revolution ของ Laszlo, Grof และ Russell พูดถึงเรื่อง Spiritual Revolution ขององค์ทะไล ลามะ รวมถึง ปณิธานข้อที่ 3 (จาก 3 ข้อ) ของท่านพุทธทาส ที่ว่า ให้พากันออกเสียจากอำนาจวัตถุนิยม

ท่านปิดท้ายด้วยคำถามว่า เมื่อเรียนรู้แล้ว เราเก่งขึ้นเรามีอัตตามากขึ้นรึป่าว? แท้จริงแล้ว การเรียนรู้ ควรทำให้เรามีความสุขมากขึ้น มีความสุขุมนุ่มลึกอยู่ในเนื้อในตัว

ภายหลังการเรียนรู้ เกิดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ที่ทำให้มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเดินล่วงล้ำ สู้เส้นทาง อันจะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวอย่างไม่รู้ตัว เห็นโทษภัยจากการให้คุณค่าในวัตถุนิยม ที่ทำให้จิตของมนุษย์คับแคบเล็กลง ด้วยความต้องการที่ไม่มีขีดจำกัด รู้สึกเห็นถึงคุณค่าในตนเอง ที่มุ่งมั่นศึกษาเรียนรู้ “จิตตปัญญา” ภูมิใจและมีความสุข ในบทบาทของการเป็นกระบวนกร จิตตปัญญา (contemplative facilitator) ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ แบบกระบวนทัศน์ใหม่ ขับเคลื่อนสังคมมนุษย์ เข้าสู่ยุคจิตสำนึกใหม่ (new consciousness era) ที่จะเกื้อหนุนให้จิตใจของเพื่อนมนุษย์ คลายจากการยึดติด อันมีผลต่อการแบ่งแยก เห็นแก่ตัว สู่ความคลาย สบาย ก่อเกิดสังคมที่อุดมไปด้วยปัญญาอย่างแท้จริง

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments