แกะรอยค้นพบตัวตนจากมุมมองใหม่ : self-awareness

สิ่งที่น่าสนใจมากๆ ของชีวิตมนุษย์ก็คือ เรามักจะรู้จักคนอื่นๆ ได้อย่างดี สามารถชี้ระบุชัดว่า ใครเป็นคนนิสัยอย่างไร มีบุคลิกภาพอย่างไร ชอบอะไร เกลียดอะไร ถ้าเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น เขาจะมีทีท่าอย่างไร “เรารู้จักคนอื่นได้ดี ยกเว้น ตัวเราเอง” แต่ก็จะมีคำกล่าวปลอบโยนตัวเองตามมาเสมอว่า “ตัวเราเองนั่นแหละ ที่รู้จักตัวเองดีที่สุด” หลังจากปลอบโยนตัวเองเสร็จ เราก็พึงพอใจในคำคมนี้ และ อาจลืมเลือนหายไป จากการมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่กระบวนการสืบค้น รู้จักตัวเองให้ได้อย่างแท้จริง

งานเขียนนี้ จะชวนให้เรากลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องภายในตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐาน และ ทักษะขั้นสูงด้วยในขณะเดียวกัน โดยจะจำแนกแนวทางในการแกะรอยค้นพบตัวตน จากมุมมองต่างๆ แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ บุคลิกภาพหลัก, วิทยาศาสตร์ทางสมอง, จิตวิทยาตัวตน และ การสืบค้นตัวตนผ่านทางร่างกาย ความคิด จิตใจ

หนึ่ง ) บุคลิกภาพหลัก

ปัจจุบันมีศาสตร์ต่างๆมากมาย ที่จำแนกแบ่งมนุษย์จากท่าทีที่เราแสดงออกมา หรือ จากศักยภาพเชิงลึกภายใน เช่น ผู้นำสี่ทิศ, Talent SCANN, DISC, ธาตุ 4, จริต 6, นพลักษณ์ขั้นต้น, MBTI เป็นต้น แต่ละศาสตร์สามารถสืบค้นแกะรอยค้นหาตัวตนของเราได้จาก การทำแบบทดสอบ, การสัมภาษณ์, การโค้ช (coaching) และ การให้คำปรึกษาส่วนบุคคล (personal consulting) เพื่อให้เราได้ค้นพบประเภทของตัวตนที่ใกล้เคียงตัวเราเองมากที่สุด

สอง ) ประสาทวิทยาศาสตร์

เราสามารถค้นพบตัวตนในอีกมุมมองหนึ่ง จากการเข้าใจธรรมชาติการทำงานของสมอง การสืบค้นจนพบรูปแบบซ้ำๆ (pattern) ของการดำเนินชีวิต ที่เชื่อมโยงได้กับกลไกการทำงานสมองแบบอัตโมมัติ (autonomic nervous system) ซึ่งทำให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันทีทันด่วน อย่างที่คุ้นชิน เป็นไปเพื่อปกป้องชีวิตให้อยู่รอด (defence mechanisms) รวมถึงศักยภาพในการใช้สมองส่วนต่างๆ หรือ ด้านต่างๆ เพื่อแปรเปลี่ยนพฤติกรรมที่คุ้นชินเหล่านั้นด้วย

สาม ) จิตวิทยาตัวตน

การสืบค้นหาตัวตนที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป จะผ่านกระบวนการทางจิตวิทยา ที่ผสมผสานศาสตร์ต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ควอนตัม หรือ เต๋า เป็นต้น กระบวนการต่างๆ ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ IFS (internal family system) และ Voice Dialogue ประโยชน์ของการค้นพบตัวตนในแนวทางเหล่านี้ ก็คือ จะสามารถต่อยอดเข้าไปขยับขยายสร้างความเข้าใจ หรือ ที่เราเรียกว่าการเยียวยา (healing) ได้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการค้นพบตัวตนในระดับที่ละเอียด ในระดับที่เป็นต้นตอ ขจัดข้อจำกัดขอบเขตที่หน่วงรั้งชีวิตในปัจจุบันของเราไปได้

สี่ ) ร่างกาย ความคิด จิตใจ

มุมมองทางพุทธจิตวิทยา, การฝึกปฏิบัติใน Emotional Wellness โดย OSHO รวมถึงแนวทางการสื่อสารเพื่อสันติ (non-violent communication) โดย Marshall Rosenberg ล้วนให้แนวทางการสืบค้นตัวตน สอดคล้องอยู่ในกลุ่มนี้ คือ การสำรวจมาที่ร่างกาย พฤติกรรม หรือ การกระทำก่อนเป็นอันดับแรก อาจเริ่มต้นฝึกฝนจากการสืบค้นเหตุการณ์ย้อนหลังจากสิ่งที่ทำไปแล้ว เกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วค่อยพิจารณาทบทวน จนกระชั้นชิดเข้ามารู้สึกถึงการกระทำ รู้สึกถึงร่างกายในขณะที่ทำนั่นแหละ จากนั้นก็พัฒนาต่อไปจนเท่าทันความคิด ที่เป็นต้นกำเนิดของการกระทำต่างๆ และ ในที่สุดก็คือการล่วงรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก (emotional self-awareness) และ จิตใจตนเอง ถือเป็นการแกะรอยตัวตนที่ละเอียดที่สุด ซึ่งมีกระบวนการฝึกฝนที่หลากหลายแนวทาง เช่น ผ่านกระบวนการทางศิลปะ และ ดนตรี เป็นต้น

การแกะรอยค้นพบตัวตนจากมุมมองใหม่ (self-awareness) คือ สมรรถนะพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ อาจเรียกว่า Ei (emotinal intelligence) หรือ EQ (emotional quotient) ทำให้เราสามารถเท่าทันอารมณ์ (emotional self-awareness) ปรับผ่อนท่าที (emotional balance) เลือกแสดงออกได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์แวดล้อม เป็นทั้งทักษะพื้นฐานสำคัญในการงาน และ ทักษะขั้นสูงของการพัฒนาชีวิต

ตะเกียบอีกข้างที่จะทำให้การค้นพบตัวตนสมบูรณ์ก็คือ การไม่ตัดสินตัวเอง และ ไม่ตัดสินผู้อื่น ไม่ตัดสินตัวเอง คือ ไม่จมจ่อมเป็นคนแบบนั้น เป็นคนแบบนี้ โดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง ไม่ตัดสินผู้อื่นก็คือ ไม่เหมารวมผู้อื่นว่าต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้เสมอไป เปิดใจให้โอกาสผู้อื่นมีพื้นที่ในการเรียนรู้ได้อยู่เสมอ ในระหว่างกระบวนการสืบค้นตัวตน หากเรายังมีการตัดสินถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ชอบอยู่ แสดงว่าเรายังเห็นตัวตนภายในไม่ครบ ยังสามารถเรียนรู้สืบค้น ฝึกฝนพัฒนาได้อีก

การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ ในการพัฒนาทักษะอื่นๆ หากลองสังเกตดูจะพบว่า ในเวลาที่เราเกิดการตระหนักรู้ในตนเองขึ้น เช่น ภายหลังการฟังสุนทรพจน์จากนักพูดที่สุดยอด เราก็มักจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องใกล้ๆ ตัวในทันที เช่น เรื่องการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน และ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว คำถามที่น่าสนใจก็คือ จะทำอย่างไรให้การตระหนักรู้ในตนเองนั้น เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นพื้นฐานที่มั่นคงสู่การพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ต่อไป

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments