เราไม่อาจสอนคำว่า “เบา” ได้จากการอธิบาย จนกว่าจะได้ลองยกของหนักแล้ววางมันลงด้วยตัวเอง ในการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ อีกหลายอย่างก็เช่นเดียวกัน เหตุปัจจัยใดบ้างที่มาผสมรวมกัน แล้วทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) คือ ความสามารถระดับจิตใจ จึงจำเป็นต้องพัฒนาจากระดับจิตใจ หรือ เรียกว่าระเบิดจากภายใน การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ จึงอาจไม่ง่ายเหมือนกับการสั่งเมนูอาหารใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยให้กับตัวเองได้ในทันที งานเขียนนี้จะหลอมรวมทฤษฏี แนวคิดหลายๆ อย่าง โดยใช้โมเดลวงจรการเปลี่ยนแปลง TTM (The Transtheoretical Model) เป็นแก่นแกนในการอธิบาย แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
หนึ่ง) ก่อนใคร่ครวญ (Precontemplation)
เป็นช่วงเวลาที่เราไม่รู้ว่าเรามีปัญหาอะไร ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่จำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรมาชี้แนะ หรือ ผ่านประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้ด้วยตนเอง การคบมิตรที่ดี และ หมั่นฝึกฝนการใคร่ครวญ (contemplative) ย้อนกลับมาสำรวจกายและใจตัวเองอยู่เรื่อยๆ จะเป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของเรามีโอกาสเกิดการตระหนักรู้ในส่วนอื่นๆ ที่ยังไม่เคยรู้ ได้มากขึ้น
.
สอง) ช่วงใคร่ครวญ (Contemplation)
เป็นช่วงเวลาหลังผ่านประสบการณ์บางอย่างแล้วทำให้เกิดการตระหนักรู้ จนเห็นความสำคัญ จนต้องมาใคร่ครวญกายและใจของตนเอง กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มรู้ถึงพฤติกรรมของตนเองที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง หากสามารถสืบค้นจากพฤติกรรม ไปสู่ความรู้สึก ความต้องการของตนเองได้ ก็จะช่วยให้ค้นพบคำตอบสำคัญ เพื่อตัดสินใจก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน หากมีเพื่อนที่มีทักษะการโค้ช มาคอยช่วยตั้งคำถามที่สร้างสรรค์ ก็จะช่วยให้เราก้าวต่อไปได้ง่ายขึ้น
.
สาม) ช่วงเตรียมพร้อม (Preparation)
เป็นช่วงเวลาที่เกิดความตั้งใจที่จะลงมือทำ และ เริ่มต้นบางอย่างเล็กๆน้อยๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สิ่งที่อาจเกิดขึ้นแทรกเข้ามาในช่วงนี้ก็คือ ความกลัว ที่จะต้องออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคย สู่พื้นที่เสี่ยง หรือ พื้นที่ใหม่ๆ พฤติกรรมใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หากมีสมรรถนะการมองเชิงบวก (positive outlook) หรือ มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในสิ่งเหล่านี้ มาช่วยแนะนำ ก็จะช่วยให้การเตรียมความพร้อมนั้นรัดกุม รู้สึกปลอดภัย และ มั่นใจที่จะลงมือทำขั้นต่อไป
.
สี่) ช่วงลงมือทำ (Action)
เมื่อเตรียมความพร้อมทั้งปัจจัยแวดล้อมภายนอก และ ความพร้อมภายในจิตใจของเราเองได้เพียงพอ จะเกิดการลงมือทำ เพื่อบ่มเพาะพฤติกรรมใหม่ที่จำเพาะเจาะจง เพื่อทดแทนพฤติกรรมเก่าที่ต้องการเปลี่ยนแปลง บ่อยครั้ง เราก็จำเป็นที่จะต้องลงมือทำด้วยความไม่พร้อม ทักษะของการลงมือทำในความไม่พร้อมจึงคือหัวใจของความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต และ การชื่นชมความสำเร็จเล็กๆ ระหว่างทางจะช่วยให้เรามีกำลังใจในก้าวต่อไป
.
ห้า) ช่วงรักษาให้ยั่งยืน (Maintenance)
เป็นช่วงเวลาที่เราลงมือทำพฤติกรรมใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้อาจเกิดการภาวะถดอถอย (relapse) ไม่คืบหน้าอย่างที่ตั้งใจ แต่ยังคงเท่าทัน เฝ้าสังเกต ลงมือทำต่อไปอย่างมีวินัยแม้เริ่มใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ไม่หวนกลับคืนสู่พฤติกรรมเก่าอีกแล้ว (termination) การมีชุมชน (community) ที่เกื้อหนุนให้กำลังใจ และ ไม่ตัดสินกัน จะช่วยเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ และ เสริมสร้างกำลังใจให้กัน และ สิ่งสำคัญก็คือความมุ่งมั่นของเราเองในการทำตามพันธสัญญา (commitment)
การระเบิดจากภายในจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน กว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงเปลือกผิวชั่วคราว โดยความสำเร็จหนึ่ง จะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดความสำเร็จอื่นๆตามมา การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 12 สมรรถนะ ที่เรียกรวมกันว่า ESCI (Emotional and Social Competency Inventory) จะเติบโตก้าวหน้าไปแบบพร้อมๆกัน
โดยแต่ละช่วงของการเปลี่ยนแปลงในงานเขียนนี้ จะมีเวลาสั้นยาวไม่แน่นอน บางช่วงอาจหนึ่งนาที บางช่วงอาจยาวนานหลายเดือน จึงจำเป็นต้องมีความสม่ำเสมอ และ หากจะต้องสรุปถึงหัวใจของการฝึกฝน เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ อาจสรุปได้เป็น 2 สิ่ง สิ่งแรก ก็คือ “การทำโดยไม่พร้อม” และ อีกสิ่งก็คือ “การทำเป็นทีม”