การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาสมรรถนะในการบริหารจัดการตนเอง (self-management) ซึ่งหมายถึง การดูแลท่าทีของตนเองให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในเวลาปกติสุข และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่คับขัน รู้สึกกลัว รู้สึกไม่คุ้นชิน รู้สึกไม่ปลอดภัย
เวลาปกติสุขสมองส่วนที่กุมอำนาจเป็นหัวหน้าใหญ่ของมนุษย์ ก็คือ สมองส่วนหน้า (preconfrontal cortex) ซึ่งอยู่หลังหน้าผากของเรา จะคอยบัญชาการในการคิด ตัดสินใจ วางแผน และ การเรียนรู้ของเรา แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ที่คับขัน รู้สึกไม่ปลอดภัย สมองส่วนหนึ่งที่เรียกว่า อะมิกดะลา (amygdala) ที่อยู่ส่วนกลางบริเวณระหว่างหู จะเข้ายึดครองการทำงาน เพื่อสลายสภาวะที่รู้สึกไม่ปลอดภัยแบบฉับพลัน แสดงออกเป็นพฤติกรรมที่เกลือกกลั้วอยู่ด้วยอารมณ์ โกรธ กลัว กังขา
บางการกระทำก็ส่งผลดี เช่น การตัดสินใจอย่างฉับพลันเพื่อควบคุมรถก่อนเกิดอุบัติเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ รู้สึกเสียใจภายหลังที่ทำลงไป เช่น การแก้ตัวแบบโผงผาง พูดไม่หยุด พูดเสียงดัง ไม่ยอมฟังกัน เพราะความกลัวลึก ๆ ในใจกลัวการไม่ได้รับความใส่ใจ หรือ การกล่าวโทษผู้อื่น สิ่งแวดล้อมรอบตัว ในสถานการณ์ที่เราเป็นกังวล
สิ่งที่เราควรรู้ก็คือ เรื่องราวในวัยเด็กนั้น กลับมามีผลต่อเราในปัจจุบัน เพราะอะมิกดะลา (amygdala) มีบทบาทในการเก็บบันทึกความจำของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลสะเทือนทางอารมณ์ ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมฉับพลันเพื่อปกป้องตนเอง สลายสภาวะเชิงลบที่เทียบเคียงกันกับอดีต เช่น เมื่อถูกเจ้านายเรียกพบจะถือว่าเป็นภัยคุกคาม เมื่อถูกตำหนิจะแก้ตัวทันที ตัวเกร็ง กำมือ เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด (stress hormone) ในแง่ดีของกลไกนี้ก็คือ ทำให้มนุษย์เกิดการจดจำประสบการณ์เพื่อเป็นบทเรียนได้ดีกว่าสถานการณ์ปกติ
เราไม่อาจเปลี่ยนกลไกการทำงานของ อะมิกดะลา (amygdala) แต่ข่าวดีก็คือ เมื่อมันทำงาน มันไม่ได้ยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่ยังคงส่งสัญญาณเชื่อมต่อไปยังสมองส่วนหน้าของเราด้วย (prefrontal cortex) สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อะไรกันนะ ที่จะช่วยให้สมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ของเรามีศักยภาพในการรู้เท่าทัน สามารถดึงคืนการควบคุม เพื่อมาตัดสินใจ (decision-making) ปรับสมดุลให้กับอารมณ์ (emotional self-control) ปรับเปลี่ยนท่าที (adaptability) รักษาเส้นทางสู่เป้าหมาย (achievement orientation) และ ยังคงมีมุมมองเชิงบวก (positive outlook) ได้ต่อไป
จากการทดลองตรวจสภาวะของสมองด้วย fMRI ในผู้ที่เจริญกรุณากรรมฐาน พบว่าเกิดการปรับสภาวะของ อะมิกดะลา (amygdala) ให้ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี และ ยังพบว่าแม่ลิงที่สมองส่วนอะมิกดะลา (amygdala) ได้รับความเสียหาย จะมีพฤติกรรมความเป็นแม่น้อยลง ปล่อยปะละเลยลูกของตน ยังมีข้อมูลยืนยันว่า บุคคลที่มีอะมิกดะลาที่ใหญ่กว่า จะมีเครือข่ายทางสังคมที่ใหญ่กว่า ซับซ้อนกว่า มีความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ที่ดีกว่า จึงทำให้สามารถร่วมแรง ร่วมใจ ทำงานเข้ากับผู้อื่นได้ดีกว่า (Buchanan, T.W., Tranel, D. & Adolphs, R. in The Human Amygdala)
ขนาดของอะมิกดะลา (amygdala) อาจเปรียบได้กับ ความสามารถในการเปิดใจ ยอมรับต่อประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้อื่น ไม่ด่วนสรุป ไม่รีบตัดสินถูกผิด ซึ่งนั่นก็คือ ความกรุณา (compassion) ในจิตใจของเรานั่นเอง ในขณะที่ ศักยภาพของสมองส่วนหน้าของมนุษย์ (prefrontal cortex) ที่สามารถยับยั้งชั่งใจได้มากกว่าสัตว์อื่นทั่วไป สามารถดึงคืนการควบคุมจากระบบอัตโนมัติเพื่อสงบใจ นั่นก็คือ กำลังสติ (mindfulness) ของมนุษย์นั่นเอง
“Change your mind, change your brain.”
ในเมื่อเราผ่าตัดเปลี่ยนขนาดสมองไม่ได้ง่ายๆ การฝึกฝนชีวิตให้เป็นผู้มีความกรุณา (compassion) มีกำลังแห่งสติประกอบด้วยปัญญา (mindful awareness) ก็ย่อมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ในการพัฒนาสมรรถนะในการบริหารจัดการตนเอง (self-management) และ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence)