ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานภาวนาครั้งสำคัญของหมู่บ้านพลัม ประเทศไทย ชื่องานว่า Asia-Pacific Core-Sangha Retreat 2016 ตอน ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งคือรักแท้ (Deep Understanding is True Love) ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2559 จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นงานที่รวมผู้ปฏิบัติตามแนวทางหมู่บ้านพลัมจากหลายๆ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เบลเยียม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ประเทศไทย
ประสบการณ์เล็กๆ ที่จะขอหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังก็คือ ในวันหนึ่ง ระหว่างงานภาวนา ในขณะที่ผมออกจากห้องน้ำเรือนพักชาย ผมพบกับนักปฏิบัติผู้หนึ่งกำลังจัดเรียงรองเท้าสำรองที่ใช้สำหรับเปลี่ยนใส่เข้าห้องน้ำขึ้นชั้นวาง เขาไม่ได้เพียงจัดเรียงรองเท้าที่ตนเองสวมใส่ แต่ยังจัดเรียงรองเท้าที่วางระเกะระกะจำนวนมากหน้าห้องน้ำ ให้เข้าชั้นอย่างเป็นระเบียบอีกด้วย ผมมองไปรอบๆ บริเวณนั้นไม่พบผู้ใด ไม่มีผู้ใดสักคนที่จะมาแลเห็นพฤติกรรมอันดีนี้ เพื่อชื่นชมเขา เขาทำโดยไม่ได้สนใจคำชื่นชมใดๆ เรื่องราวเล็กๆนี้ ได้สะท้อนกลับเข้ามาที่ตัวผม มันทำให้ผมเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมนี้ และทำเช่นเดียวกันในเวลาต่อมา กลายเป็นนิสัยใหม่ทันทีอย่างไม่ต้องฝึกฝืน สิ่งที่น่าสนใจศึกษามากๆ ก็คือ พฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดจากเพียงความประทับใจ แต่ผมได้พบกับความสุขที่อัศจรรย์มากในระหว่างที่ทำ
ช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ได้มีการค้นพบสำคัญโดยบังเอิญ ณ ห้องทดลองในประเทศอิตาลี ขณะกำลังตรวจจับเซลล์ประสาทหนึ่งของลิง ที่จะทำงานทุกครั้งเมื่อมันยกแขนขึ้น แต่วันหนึ่งเมื่อมันยืนนิ่ง กลับพบว่าเซลล์นี้ก็ทำงานขึ้นมา พอกวาดสายตาไปในบริเวณนั้นก็พบกับผู้ช่วยประจำห้องทดลองคนหนึ่ง กำลังยืนกินไอศกรีมต่อหน้าลิงตัวนั้น ทุกครั้งที่เขายกไอศกรีมมากิน ก็พบว่าเซลล์ในตัวลิง ที่ทำหน้าที่เมื่อมันยกแขนขึ้นก็ทำงานไปด้วยราวกับว่ายกแขนเสียเอง ต่อมาเรียกสิ่งนี้ว่า “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror Neuron)
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
การค้นพบ “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror Neuron) เปรียบดั่งการเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง เริ่มหยิบปรากฏการณ์หลายๆ อย่างของมนุษย์ที่ยังชี้ชัดไม่ได้ มาปัดฝุ่น และ อธิบายผ่านเรื่อง “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror Neuron) เช่น เมื่อเราตื่นเต้นอย่างกับเป็นนักวิ่ง 100 เมตรซะเอง ในขณะที่เห็นเขากำลังเบียดกันอย่างสูสีเพื่อเข้าเส้นชัย และ พัฒนาการด้านภาษาของเด็ก ๆ ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแม้ไม่มีใครสอน รวมถึงการส่งต่อสภาวะทางอารมณ์จากผู้นำองค์กร สู่พนักงานคนอื่น ๆ ในองค์กร ตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนมีสิ่งที่เชื่อมโยงกันอยู่ก็คือ มนุษย์เป็นไปตามผู้คนใกล้ชิด และ สภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ หากสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ดี เกื้อหนุนการเรียนรู้ การเรียนรู้ของเราก็จะดี ในทางตรงกันข้าม หากสภาพแวดล้อมที่เราอยู่แย่ มีอารมณ์ลบ ๆ เราก็จะได้รับสิ่งนั้นมาด้วยไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ การค้นพบ “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror Neuron) ยังทำให้เราเข้าใจในเชิงวิทยาการว่า เพราะอะไร เราจึงสามารถรู้ใจผู้อื่น (Empathy) สามารถรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความมุ่งมั่นตั้งใจของคนอื่นได้โดยยังไม่ต้องถามไถ่
ดอกไม้ตูมก็เพื่อที่จะบาน
มีการทดลองหนึ่ง ให้นักศึกษาด้านศาสนาเตรียมตัวขึ้นแสดงธรรมเทศนาทีละคน โดยเตรียมตัวอยู่ตึกหนึ่ง และ แสดงธรรมอีกตึกหนึ่ง ในระหว่างที่เดินออกจากตึกหนึ่งเพื่อไปแสดงธรรม จะต้องผ่านเส้นทางที่จะได้พบกับชายผู้หนึ่งที่นอนคุดคู้รอคอยการช่วยเหลือ ผลปรากฏว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เดินผ่านชายผู้นี้ไป โดยไม่มีการเข้าไปช่วยเหลือหรือแม้แต่เพียงถามไถ่ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อะไรกันนะที่ทำให้เราตัดสินใจช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งบางครั้งเราก็ทำ บางครั้งเราก็ปล่อยผ่านไม่ได้ทำ อะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้เราเกิดความใส่ใจในผู้อื่น มีการตระหนักรู้ในสังคม (Social Awareness)
อีกเรื่องราวหนึ่ง เกิดขึ้นในเทศกาลจับคู่ออกเดท โดยกติกาคือ จะให้ผู้หญิงที่มาร่วมงานนั่งประจำที่โต๊ะเดิมตลอด ส่วนผู้ชายที่มาร่วมงานให้เข้าไปนั่งทีละโต๊ะ จับคู่พูดคุยกับผู้หญิงทีละคน (อาจจะให้เห็นหน้า หรือ ไม่เห็นหน้าก็ได้สุดแล้วแต่) พอครบ 15 นาที ก็จะมีเสียงสัญญาณบอกหมดเวลา ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะให้นามบัตรข้อมูลติดต่อแก่ผู้ชายที่คุยด้วยหรือไม่ จากนั้นผู้ชายจะเป็นฝ่ายลุกขึ้นเพื่อเปลี่ยนไปนั่งโต๊ะอื่น จับคู่พูดคุยกับผู้หญิงคนต่อๆไป คนละ 15 นาทีเช่นเดียวกัน เรื่องที่น่าสนมีอยู่ว่า มีผู้ชายคนหนึ่ง ที่เข้าร่วมเทศกาลจับคู่ออกเดท แต่เขาไม่เคยได้รับนามบัตรจากผู้หญิงเลย เมื่อเข้าไปสืบสาวราวเรื่องก็พอว่า เขาเป็นคนที่พูดอยู่แต่เพียงเรื่องของตนเอง เขาเล่าถึงคุณสมบัติของตนเองได้เป็นอย่างดี แต่เขาไม่เคยพูดถึงผู้คนรอบตัว หรือ ถามไถ่ไยดีกับคนตรงหน้าเลย ในอีกมุม เมื่อไปสัมภาษณ์ผู้หญิงที่มาร่วมงานเทศกาลจับคู่ออกเดท ก็ได้คำตอบมาว่า เคล็ดลับในการเลือกที่จะให้นามบัตรผู้ชายคนไหนนั้น เธอจะสนใจที่การใช้สรรพนาม หากผู้ชายคนไหนพูดเพียงแต่คำว่า “ฉัน… ฉัน… ฉัน…” เธอก็จะไม่ให้นามบัตร แต่หากผู้ชายคนไหนพูดว่า “คุณ… คุณ… คุณ…” เธอก็จะรู้สึกให้ความสนใจผู้ชายคนนั้นเป็นพิเศษ
Ken Wilber นักการศึกษาโลกด้านในคนสำคัญ ได้เขียนเกี่ยวกับพัฒนาการทางศีลธรรม (Moral Development) ไว้ในหนังสือชื่อ Integral Spirituality ซึ่งจะขอหยิบยกมาเล่าโดยย่อ แบบที่เป็น 3 ระดับ คือ
หนึ่ง) ก่อนธรรมเนียมปฏิบัติ (Preconventional)
เราใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง จึงเรียกอีกอย่างว่า Egocentric มันลึกมาก จนบางทีเราก็เข้าใจว่าเรากำลังทำเพื่อคนอื่น แต่ไหงคนอื่นยังเดือดร้อนเพราะเรา เป็นพัฒนาการในระดับร่างกาย (Body)
สอง) ตามธรรมเนียมปฏิบัติ (Conventional)
เราใช้กลุ่มก้อนชุมชนของเราเป็นศูนย์กลาง เรียกอีกอย่างว่า Ethnocentric มันมีประโยชน์เหมือนกันใช่รึป่าว เวลาเราทำเพื่อกลุ่มของเรา เป็นพัฒนาการในระดับความคิดจิตใจ (Mind) ผมกำลังสนใจว่า อะไรทำให้มันอึดอัด แบ่งแยก และ อะไรทำให้มันคลายออกไปสู่ระดับที่สาม
สาม) หลังธรรมเนียมปฏิบัติ (Postconventional)
เรามองผ่านโลกทั้งใบ บางทีเรียกว่า Worldcentric เราคิดถึงภาพรวมของมนุษย์ทั้งมวล ยอมรับความแตกต่างได้ ไม่ว่าเขาอยู่กลุ่มไหน เราก็รู้สึกว่าทุกคนเชื่อมโยงกัน เป็นดั่งกันและกัน นี่เป็นพัฒนาการในระดับจิตวิญญาณ (Spirituality)
การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) เป็นสิ่งที่ดี แต่หากขาดการตระหนักรู้ในสังคม (Social Awareness) ก็อาจจะทำให้เราติดกับอยู่ในมุมมองอันคับแคบของตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว (Self-center หรือ Egocentric) ดอกไม้ตูมก็เพื่อที่จะบาน การตระหนักรู้ในตนเองอย่างแท้จริง (Self Awareness) ก็เพื่อที่จะทำให้เราตระหนักรู้ในสังคม (Social Awareness)
เซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neuron) ที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้าของเรานั้น สามารถสะท้อนรับโลกภายนอกได้อย่างแจ่มชัด เราจึงสามารถเข้าถึงใจผู้อื่น (Others Realization) ได้ผ่านการเข้าถึงใจตนเอง (Self-realization) และ วิธีการออกจากกล่องแห่งตัวตน (Self-center) เพื่อก้าวไปสู่การตระหนักรู้ในสังคม (Social Awareness) นั้น ก็คือการไปอยู่ในสถานที่แวดล้อมที่เหมาะสม มีกัลยาณมิตรจิตอาสา เปรียบเหมือนเมื่อเราเห็นคนนอนคุดคู้รอการช่วยเหลืออยู่ ถ้าเราเห็นเพียงลำพังเราอาจชะงักงัน แต่ทันทีที่มีคนจำนวนหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือ ทุกคนก็จะเข้าไปช่วยเหลือตามกันได้โดยง่าย เพราะความจริง เมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณานั้น มีอยู่ภายในมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว และ นี่ก็คือสิ่งเดียวกับ สภาวะแห่งความสุขอันอัศจรรย์ที่มนุษย์ได้รับ จากการได้มอบความรักและทำให้ผู้อื่นมีความสุข