การดำรงอยู่บนทางแห่งความสำเร็จ : achievement orientation

การดำรงอยู่บนทางแห่งความสำเร็จ (achievement orientation) คือ การมุ่งมั่นปรับปรุง และ พัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต หรือ กับบุคคลต้นแบบ (role models) มีความสนใจใคร่รู้ ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย รวมถึงสามารถปรับสมดุลระหว่างพลังความมุ่งมั่นภายในตนเอง กับการบรรลุผลสำเร็จได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน การดำรงอยู่บนทางแห่งความสำเร็จ (achievement orientation) เป็นหนึ่งใน 12 สมรรถนะของผู้นำที่ชาญฉลาดทางอารมณ์ หรือ เรียกรวมกันว่า ESCI (emotional and social competency inventory)

ภาวะผู้นำกับความสำเร็จร่วมกัน

ผู้นำที่มีสมรรถนะในการดำรงอยู่บนทางแห่งความสำเร็จ (achievement orientation) จะมีความคุ้นเคยกับความเสี่ยง สามารถตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และ แน่ใจว่าจะทำได้สำเร็จ เป้าหมายยิ่งท้าทายก็ยิ่งนำสู่ความสำเร็จที่มากขึ้นเท่านั้น และ เขาหรือเธอก็มักจะทำสำเร็จได้ในทุกๆครั้ง แต่ทันทีที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ก้าวขาที่เคยท้าทายอาจกลายเป็นก้าวขาที่สร้างความกังวลให้กับทีมงาน หากก้าวขานั้นยาวมาก และ ต้องการให้ทุกคนทำตามได้เช่นเดียวกัน อาจถูกมองว่า บ้าอำนาจ (power over) ได้ง่ายๆ ผู้นำจึงจำเป็นต้องมีทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ซึ่งจะทำให้สามารถหาสมดุลความเสี่ยงที่เหมาะสมกับทีมงาน ตั้งเป้าในแต่ละขั้นตอนได้อย่างเหมาะสม เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน

ความสำเร็จกับสมอง

Richard J. Davidson นักประสาทวิทยา ได้เชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) กับสมรรถนะการดำรงอยู่บนทางแห่งความสำเร็จ (achievement orientation) และ มุมมองเชิงบวก (positive outlook) โดยสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) นั้น ทำงานเชื่อมโยงกับสมองส่วนที่อยู่ภายใต้ลงไป ที่เรียกว่า Ventral Striatum และ ในส่วนนี้เอง จะมีส่วนที่เรียกว่า Nucleus Accumbens ที่อยู่ภายใน และ อุดมไปด้วยสารโดพามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีแห่งความสุข มีการทดลองวัดค่าสารโดพามีนในหนูทดลอง พบว่า ครั้งที่ 1 เมื่อหนูได้รับอาหารในขณะเวลาที่ไม่เคยได้รับ สารโดพามีนจะเพิ่มขึ้น ครั้งที่ 2 เมื่อหนูได้รับอาหารในเวลาที่เคยได้รับ สารโดพามีนนั้นกลับคงที่ หรือ ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก และ ครั้งที่ 3 เมื่อหนูไม่ได้รับอาหารในเวลาที่เคยได้รับ ก็พบว่าสารโดพามีนนั้นกลับต่ำลง

จากผลการทดลองเหล่านี้ เราสามารถอธิบายง่ายๆ ผ่านสมการ ความสุขจากโดพามีน จะมีค่าเท่ากับ รางวัลที่ได้รับ (reward) หักลบกับความคาดหวัง (expectation) ซึ่งสรุปได้ว่า ความสุขเกิดขึ้น เมื่อได้รับผลเกินกว่าที่คาดหวังไว้ล่วงหน้า และ แน่นอนว่าเราย่อมมีความสุข เมื่อพบกับความสำเร็จใหม่ๆ แม้เพียงการจินตนาการโน้มใจไปถึงเป้าหมาย รับรู้ถึงความรู้สึกนั้น วงจรสมองก็จะเชื่อมโยงกับส่วนที่สร้างความรู้สึกที่ดีได้เช่นกัน

Richard J. Davidson ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สมองส่วนหน้าทางฝั่งซ้ายนั้น เกี่ยวของกับมุมมองเชิงบวก (positive outlook) ในขณะที่สมองส่วนหน้าฝั่งขวาส่งผลเชิงลบ ช่วงเวลาที่เรายับยั้งความพยายามกลางคัน ยอมแพ้เมื่อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย นั่นก็เกิดขึ้นจากสมองส่วนหน้าเช่นกัน เราทราบมาก่อนว่าสมองส่วนหน้าก็คือวิวัฒนาการที่เสริมสร้างด้านความคิด สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า ความคิดของเรานั่นเอง ที่นำเราไปสู่การกระทำ ความคิดเป็นต้นตอ นำพาเราให้เริ่มต้น ก้าวต่อไป หรือ ล้มเลิก ไม่ลงมือทำ

.

เกียรติยศสูงสุดของเรา ไม่ได้อยู่ที่ไม่เคยล้ม
แต่อยู่ที่การลุกขึ้นมา ในทุกครั้งที่ล้มต่างหาก
— ขงจื๊อ —

 .

การพัฒนาความสำเร็จ

หนึ่ง) สร้างความสำเร็จเล็กๆ : aspiration

ทำในสิ่งที่รัก เพื่อสร้างความสำเร็จเล็กๆ คือ หัวใจขับเคลื่อนความสำเร็จต่อๆมา หากเรายังไม่สามารถอ่านหนังสือให้จบ 1 เล่มในแต่ละสัปดาห์ เราอาจลองเลือกหนังสือที่ชอบแล้วอ่านให้จบเพียง 1 บทในแต่ละสัปดาห์ และ หากเรายังไม่สามารถอ่านหนังสือให้จบ 1 บทในแต่ละสัปดาห์ ก็ให้ลองตั้งเป้าอ่านให้จบ 1 บทในหนึ่งเดือน สิ่งสำคัญก็คือ สร้างความสำเร็จเล็กๆ ให้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ความสำเร็จเล็กๆ จะทำให้ความคิดที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขให้เราไม่ลงมือทำ ค่อยๆทะยอยหายไป และ เมื่อความสำเร็จที่เป็นชิ้นเป็นอัน ได้ก่อประกอบขึ้น เราจะได้รับบทเรียนที่คุ้มค่าแบบเฉพาะตัว พร้อมกับมุมมองเชิงบวก (positive outlok) ความสำเร็จในครั้งต่อๆไป ก็จะง่ายขึ้นเรื่อยๆ 

นอกจากนี้ การเริ่มต้นทำสิ่งเล็กๆ ยังเป็นการหลอกกลไกความกลัวของเรา ไม่ให้ทันตั้งตัว ให้รู้สึกเสมอว่าแค่ได้เริ่ม ก็เท่ากับสำเร็จแล้ว “ทำเพื่อผลสำเร็จช้า ทำเพื่อเริ่มสำเร็จเร็ว”

สอง) ต่อยอดความสำเร็จ : effort

พัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ ต่อเนื่อง จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน การฝึกเล่นดนตรี หรือ กีฬา จะช่วยให้เราเข้าใจในกระบวนการต่อยอดความสำเร็จเล็กๆ และ คุ้นเคยที่จะเป็นผู้บ่มเพาะความสำเร็จในเรื่องอื่นๆ ตามมา ลองมาสังเกตุจากประสบการณ์การวิ่งมาราธอน จะพบว่า เราต้องอาศัยความพยายามเพื่อฝึกวิ่งซ้ำในระยะสั้นๆ ระยะเดิมๆ ที่เคยวิ่งได้อยู่แล้ว การฝึกซ้ำๆ ถือเป็นหัวใจของการต่อยอดความสำเร็จเลย เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ เราจะสามารถวิ่งมินิมาราธอน 10 km ได้ เมื่อฝึกซ้ำๆในระยะ 10 km เราจึงวิ่งฮาร์ฟมาราธอน 21 km ได้ และ เมื่อฝึกซ้ำๆ ในระยะ 21 km เราจึงสามารถวิ่งในระยะมาราธอน 42.195 km ได้ เราจะสัมผัสได้ว่าความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องบ่มเพาะ และ มันจะก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และ ในทุกๆครั้งที่เริ่มวิ่ง เราต้องนับหนึ่งใหม่เสมอ แต่แล้วมันก็จะง่ายขึ้นเมื่อเราเคยทำสำเร็จมาก่อน

สาม) มีเครื่องเตือนใจ : active thought

การมีเครื่องเตือนใจ เช่น การตั้งเสียงนาฬิกา (อาจจะเป็นนาฬิกาจับเวลาจากในโทรศัทพ์มือถือ) ให้ดังขึ้นสั้นๆ ด้วยเสียงเบาๆ พอให้เราได้ยินในทุกๆ ชั่วโมง แล้วให้เราใช้เสียงนาฬิกาที่ดังนั้น ย้อนกลับมาทบทวนว่า เรากำลังทำสิ่งใดอยู่ เพื่อจัดลำดับความสำคัญ เลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใด และ รับผิดชอบต่อการตัดสินใจด้วยตนเอง มีความมุ่งมั่น ไม่ปล่อยให้ความเลื่อนลอย มาบันดาลผลลัพธ์ให้กับชีวิตเราอีกต่อไป หมั่นจินตนาการโน้มใจไปถึงเป้าหมาย อาจจะในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ภาพเป้าหมายที่ชัดจะทำให้เรามีความมั่นคงในการดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งความสำเร็จ (achievement orientation) 

สี่ ) มีคนเตือนใจ : investigation

การมีกัลยาณมิตร ที่มีทักษะพื้นฐานด้านการโค้ช (coaching) จะช่วยให้เราตระหนักรู้ถึงเป้าหมาย ให้เราได้อธิบายต่อเติม ภาพเป้าหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  รวมไปถึงช่วยให้เราได้พิจารณาไตร่ตรอง ค้นพบวิธีการ มีกำลังใจในการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง

ถึงที่สุด การดำรงอยู่บนทางแห่งความสำเร็จ จะช่วยให้เราได้ทบทวนความหมายของชีวิต ทบทวนความหมายของหน้าที่การงาน ค่อยๆ เกิดการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (work-life integration) นำไปสู่การเห็นคุณประโยชน์ในสิ่งที่ทำ เพิ่มศรัทธา เพิ่มความรักในสิ่งที่ทำ วนกลับสู่ข้อหนึ่ง คือ มีใจรักในสิ่งที่ทำ (aspiration) ขยายผลเกิดเป็นพัฒนาการในความสำเร็จยิ่งๆขึ้นไป

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments