ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เติ้ง เสี่ยวผิง เสนอวลีเด็ดทางการทูตไว้ว่า “Keep a Low Profile” คำนี้คงไม่ได้หมายความให้เก็บเนื้อเก็บตัวแต่ไม่ยอมพัฒนาอะไรเลย จากการทบทวนพบว่าน่าจะหมายถึง การถ่อมตน พร้อม ๆ กับการบ่มเพาะพัฒนาจากภายใน โดยไม่รีบร้อนป่าวประกาศบอกใคร ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการรักษามิตรภาพรอบด้าน และ เพิ่มสมาธิในการบ่มเพาะด้วย
การปูพื้นฐานทางวิชาการ และ อุตสาหกรรมหนักของประเทศจีน สนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาด้วยวัตถุดิบจากภายในประเทศ เช่น พลาสติก เคมี เหล็ก และ โลหะต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี และ แบรนด์ของตนเองอีกด้วย
หากเราลองหยิบยกแนวทาง “Keep a Low Profile” ของ เติ้ง เสี่ยวผิง มาปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง อาจถอดเป็นยุทธศาสตร์ออกมาได้ 2 ข้อ คือ การถ่อมตน และ การบ่มเพาะ
หนึ่ง.) การถ่อมตน ในที่นี้หมายถึง การยอมรับในข้อจำกัดของตนเองอย่างสบายใจ ซึ่งจะคือแสงไฟที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้ในส่วนที่มักมองไม่เห็น เมื่อเราสามารถเห็นข้อจำกัดของตนเองได้จริง ๆ เราก็จะเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น ถอนความคาดหวังได้เร็วขึ้น โกรธยากขึ้น ชีวิตในแต่ละวันก็จะสะดวกสบายมากขึ้น
สอง.) การบ่มเพาะ ในที่นี้หมายถึง การต่อยอดจากพื้นฐานการถ่อมตนสู่การพัฒนาระดับจิตใจ จากนั้นจึงบ่มเพาะพัฒนาทักษะ เมื่อทักษะอยู่บนพื้นฐานของจิตใจที่ใช่ การทำอะไรต่อมิอะไร ก็จะเป็นไปในทิศทางที่ใช่ เกิดประโยชน์ทั้งกับตนเอง ผู้อื่น และ สังคม
“Keep a Low Profile” นอกจากใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาตนเอง ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาคนอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึง ภาวะผู้นำกระบวนการ (Facilitative Leadership) ที่จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ว่าง ที่ว่างจากความเก่งกาจของเราเอง ให้คนอื่น ๆ ได้กล้าที่จะลอง กล้าที่จะทำ ดังนั้น การอ่อนน้อมถ่อมตนของเรานี่เอง ที่จะนำไปสู่การบ่มเพาะพัฒนาคนอื่นได้ต่อไป
ถ่อมตนและบ่มเพาะ
Keep a Low Profile
Inspired by Chen, Z., Zhou, G., and Wang, S. (2017). Facilitative Leadership and China’s New Role in the World. doi 10.1007/s41111-017-0077-8.