หลายองค์กรในปัจจุบัน กำลังหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับการทำงานร่วมกันในองค์กร ผ่านการสื่อสารที่ให้ความสำคัญในกระบวนการ (How) มากขึ้น มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีความโปร่งใส เพิ่มการบริหารจัดการตนเอง เพื่อลดการบริหารจัดการแบบมุ่งควบคุมผลลัพธ์ เปิดพื้นที่แห่งความไว้วางใจ (Trust) ให้เกิดการกล้าตัดสินใจ และ ยกระดับความรับผิดชอบของพนักงาน ผ่านการสร้างแรงจูงใจจากภายในจิตใจของตนเอง ด้วยทิศทางนี้ การบริหารจัดการด้าน Hard Side สมัยใหม่ จึงได้รับการพัฒนาด้วยทิศทางที่โน้มเชื่อมเข้าหา Soft Side เชื่อมประสิทธิผลของงานเข้ากับความเป็นอยู่ของคน สังเกตได้จากแนวคิดการบริหารงานแบบใหม่ ๆ เช่น Holacracy, Agile และ OKRs (Objective and Key Results) ต่างให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อม อันเกิดจากการบ่มเพาะทาง Soft Side มาก่อน
ถ้าผู้นำพร้อม บุคลากรในองค์กรจะกล้าตั้งเป้าหมายที่สูง ด้วยความรู้สึกสนุก พร้อมรับความท้าทาย กล้าลงมือทำ ในแบบที่ไม่กลัวการถูกจับผิด
แก่นสารสำคัญสำหรับภาวะผู้นำกระบวนการ (Facilitattive Leadership) คือ การให้โอกาสทีมงานได้สร้างสรรค์ทางเลือก และลองทำด้วยตนเอง เพื่อให้เขาได้เห็นผลตามจริงในงาน ซึ่งไม่ใช่รางวัล หรือ การลงโทษ ผู้นำจะเปิดพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่มีการตัดสินถูกผิด เพื่อให้ทีมงานได้ทบทวนประสบการณ์อย่างซื่อตรง เกิดการยอมรับ และ ยกระดับความรับผิดชอบในหน้าที่ (Responsibility) ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ผู้นำต้องแจ้งข้อมูลที่จำเป็น และร่วมกันสร้างแนวทาง ผ่านการบริหารจัดการความคาดหวัง (Expectation Management) และ ศิลปะการให้ข้อเสนอแนะ (Feedback) อันจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่พร้อมรองรับกับการติดตั้งแนวคิดในการบริหารงานแบบใหม่ ๆ
หัวใจของการติดตั้งระบบใหม่ ๆ ให้กับองค์กร คือ การมีผู้นำองค์กรที่มีความใส่ใจในศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของทีมงานทุกคน กล้าลองพร้อมปรับเปลี่ยน ไม่กลัวอุปสรรค เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ระบบที่อาจดูเหมือนซับซ้อนนั้นมีความเรียบง่ายอยู่เบื้องหลัง เมื่อเริ่มต้นจากง่าย ๆ และ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามบริบทขององค์กร ก็จะเกิดระบบที่มีความเฉพาะตัว รักษาจุดเด่นของการเป็นองค์กรเล็ก แม้จะเติบโตขึ้นกลายเป็นองค์กรใหญ่ อุปมาเหมือนช้างที่เคลื่อนตัวเร็วดั่งเสือ ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นต่อองค์กรแน่นอนครับ
สำหรับระบบ OKRS นั้น ได้สอดไส้มาพร้อมกับ CFR ซึ่งประกอบด้วย 3 กระบวนการสำคัญ ได้แก่ การสื่อสาร (Conversation), การให้ข้อเสนอแนะ (Feedback) และ การยอมรับชื่นชม (Recognition) บุคคลสำคัญ (Key Person) ของกระบวนการเหล่านี้ คือ ผู้จัดการ (Manager) ซึ่งอุปมาเหมือนกับปั้มน้ำของบ้านที่เราอยู่ ทำหน้าที่รับน้ำมาจากท่อน้ำของระบบใหญ่ จากนั้นขับดันเสริมแรงกลายเป็นน้ำกินน้ำใช้ในบ้านทั้งหมด เมื่อ CFR คือ ชุดของกระบวนการ ผู้จัดการในบริบทนี้ ก็จะถูกเรียกว่า ผู้นำกระบวนการ (Facilitative Leader) ผู้นำกระบวนการจะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสร้างการเรียนรู้ให้กับทีม บ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมที่จะติดตั้งระบบ OKRs ผ่านการนำกระบวนการ 3 ประการ ดังต่อไป
1. Conversation
ผู้นำกระบวนการ (Facilitative Leader) จะนำ “การสื่อสาร” โดยแยกระหว่าง กฏ (Rule) และแนวทาง (Guide) ออกจากกัน อะไรที่เป็นกฏ เขาจะแจ้งล่วงหน้าเพื่อป้องกันการจ้ำจี้จ้ำไชรบกวนการเรียนรู้ในระหว่างทาง ส่วนอะไรที่เป็นแนวทางนั้น เขาจะให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันคิด และ เปิดโอกาสให้ลอง แม้ไม่ถูกใจตนเอง 100% เพราะเขารู้ว่า ตามใจตน 100% นั้น มันไม่แน่ว่าจะใช่ 100% รวมถึงสามารถใช้ทักษะการโค้ชเพื่อกำหนดเป้าหมาย การวัดผล และ ยกระดับประสิทธิภาพในงาน (Performance Coaching)
2. Feedback
ผู้นำกระบวนการ (Facilitative Leader) จะจับสัญญาณพลังงานของบุคคล และวัฒนธรรมขององค์กรตามสภาวะจริงๆ ก่อนสร้างความเชื่อ ชี้ชัดเฉพาะจุด ไม่รีบร้อนบอกหมดในทีเดียว ไม่ใช่เพราะเกรงใจครับ แต่ธรรมชาติของมนุษย์สามารถยอมรับข้อบกพร่องลึกๆ และปรับปรุงได้ครั้งละจำกัด ชี้จุดที่ต้องปรับไม่เกินครั้งละ 3 จุด ขึ้นกับกำลังผู้รับ แล้วเขาจะให้ความสำคัญกับกระบวนการ คือ การช่วยกันคิดหาแนวทางปรับปรุงพัฒนา ก็แน่ล่ะครับ เขาคือผู้นำกระบวนการ จึงวางผลในอดีตได้เร็ว แล้วกลับมาโฟกัสกันที่กระบวนการกันต่อไป นอกจากนี้ การฟัง ยังถือว่าเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการให้ข้อเสนอแนะด้วยเช่นกัน
3. Recognition
ผู้นำกระบวนการ (Facilitative Leader) จะมีความสุขง่าย ๆ กับชีวิต ด้วยการชื่นชมคนอื่นเสมอ (Gratitude) แต่เมื่อเขาทำสำเร็จ เขามักจะคิดว่านั่นคือผลงานของคนอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่ผลงานของเขาคนเดียว ผู้นำกระบวนการ จะปล่อยให้ทีมงานของเขาได้ลองทำ และ สัมผัสผลตามจริงของงานที่ทำ หาใช่สัมผัสผลจากรางวัลหรือการลงโทษ เพราะบวกลบจากเรา อาจคือการควบคุมเขาแบบหนึ่ง อาจไปสร้างความกลัวได้ รางวัลและการลงโทษไม่ใช่ผลตามจริงจากกระบวนการครับ เมื่อทีมงานสัมผัสผลตามจริงจากสิ่งที่ตนเองเลือกทำ เขาจะได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนแบ่งปัน เกิดความภูมิใจในคุณค่า เกิดความรับผิดชอบในหน้าที่ (Responsibility) และ เกิดแรงจูงใจจากภายในตนเองครับ
ผู้จัดการที่มีภาวะผู้นำกระบวนการ (Facilitative Leadership) สามารถประยุกต์ใช้ทักษะของกระบวนกร หรือ Facilitator ตามบริบทจริงในงาน เขาสามารถวางกิจกรรม และเครื่องมือการเรียนรู้อย่างกระบวนกร หรือ Facilitator ในห้องเรียน แล้ว Facilitate ผ่านงานของผู้จัดการ เช่น การบริหารจัดการความคาดหวัง กระบวนการให้ข้อเสนอแนะ และกระตุ้นความคิดทีมงาน เพื่อสร้างความรับผิดชอบจากภายในใจตนเอง ผู้จัดการที่มีภาวะผู้นำกระบวนการ (Facilitative Leadership) จะช่วยตระเตรียม Culture ขององค์กร ให้พร้อมรับต่อการใช้ระบบ OKRs
ถ้าผู้นำพร้อม บุคลากรในองค์กรจะกล้าตั้งเป้าหมายที่สูง ด้วยความรู้สึกสนุก พร้อมรับความท้าทาย กล้าลงมือทำ ในแบบที่ไม่กลัวการถูกจับผิด ผู้นำต้องฝึกทำใจให้เป็นกลาง เพื่อพร้อมที่จะเป็นโค้ชที่ไม่มีอคติชี้นำตามใจตนเอง หรือไม่ก็ต้องปรับตัวให้เข้าถึงสิ่งใหม่ๆ ให้ทันกับความสร้างสรรค์ของทีมงาน
บทความ เรื่อง Facilitative Leadership
through PURE Management Model โดย รัน ธีรัญญ์
- P : Patronize ภาวะผู้นำกระบวนการ ตอน Patronize
- U : Update ภาวะผู้นำกระบวนการ ตอน Update
- R : Recognize ภาวะผู้นำกระบวนการ ตอน Recognize
- E : Establish ภาวะผู้นำกระบวนการ ตอน Establish