5 สิ่งที่คนเก่งต้องก้าวข้ามเพื่อความสำเร็จ : 5 Ways Smart People Sabotage Their Success

คนเก่งในที่นี้ หมายถึงคนที่เคยมีผลงานโดดเด่นในการเรียนหรือการทำงานมาในอดีต แต่พอเช็คข่าวความเป็นไปของเพื่อนเก่า ๆ ใน Facebook ก็พบว่าพวกเขาเหล่านั้นได้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างน่าทึ่ง จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า ตัวเองได้ทำอะไรผิดพลาดอะไรไปหรือเปล่า เพราะอะไรจึงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น บทความนี้ ได้พูดถึง 5 สิ่งที่คนเก่งมักจะต้องเผชิญและแนวทางในการก้าวข้าม เพื่อนำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ อย่างที่ควรจะเป็น

หนึ่ง) การเรียนรู้สิ่งใหม่

คนเก่งไม่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนตนเองในบางทักษะ เช่น ทักษะด้านความสัมพันธ์ การเจรจาต่อรอง บุคลิกภาพ เป็นต้น เนื่องจากมองว่ายากเกินไป ให้คนอื่นทำแทน และเชื่อว่าทักษะที่ตนเองเก่งอยู่แล้วนั้น เคยทำให้ตัวเองสำเร็จมาก่อน หรือเป็นที่ยอมรับมากกว่า จึงขาดความพยายามในการฝึกฝนทักษะอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก แต่ในการทำงานจริง ทักษะเดิมไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว

ทางออก คือ การอาศัยจุดแข็งของตัวเอง ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ด้วยความรู้สึกแบบที่น้ำไม่เต็มแก้ว เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ถนัดเพิ่มเติม เพื่อสร้างความสำเร็จครั้งใหม่ให้กับตัวเอง

สอง) การทำงานเป็นทีม

การทำงานเป็นทีม มักสร้างความหงุดหงิดใจให้กับคนเก่ง เรายอมรับว่าอย่างน้อยมีแนวโน้มที่คนเก่ง จะสามารถจับประเด็นข้อมูลได้อย่างแม่นยำ พร้อมประมวลผล และมีไอเดียออกมาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คนทั่วไปต้องการเวลาในการประมวลผลข้อมูลนานกว่า และเมื่อต้องแบ่งงานกันทำ ในทีม คนเก่งที่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ จะรู้สึกอยากลงมือทำงานเอง เพราะเชื่อว่าจะได้ผลที่ดีกว่า หรืออาจแสดงออกในทางตรงกันข้าม คือ การถอยห่าง เพราะไม่อยากร่วมรับผิดชอบในผลงานของทีม

ทางออก คือ การย้อนมองกลับมาที่ปรากฏการณ์ภายในใจของตนเอง เรียนรู้ด้านในตนเอง จนเกิดความเข้าใจ สามารถยอมรับในความไม่สมบูรณ์ได้ เห็นถึงเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรม ยอมรับในความหลากหลาย และความไม่สมบูรณ์แบบภายนอกได้ ห้อยแขวนการตัดสิน เปิดพื้นที่ให้คนอื่นได้มีส่วนร่วม และร่วมแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างสมดุล

สาม) การเปิดใจแก้ไข

คนเก่งมักจะยึดติดความภาคภูมิใจในอดีต จนไม่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ และอาจนำไปสู่การหลีกหนีความเป็นจริงในปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่ต้องเปิดเผยด้านที่อ่อนแอ หรือดูไม่เก่ง รวมถึงเมื่อต้องรับข้อเสนอแนะที่กระแทกใจ คนเก่งจะยอมรับได้ยาก

ทางออก คือ การมีบุคคลตัวอย่าง (Role Model) สร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนที่เคารพศรัทธา คนเหล่านั้นจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนเก่ง และ สามารถให้ข้อเสนอแนะที่ดี ที่คนเก่งพร้อมจะเปิดใจรับฟัง เพื่อการปรับปรุง พัฒนาตนเอง

สี่) การใส่ใจอย่างต่อเนื่อง

บางความสำเร็จต้องอาศัยการสนใจใคร่รู้สิ่งใหม่ ๆ อาศัยความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แต่บางความสำเร็จต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ที่เกิดจากพฤติกรรมการฝึกทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง และนี่อาจคือยาขมของคนเก่ง ที่ต้องการความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ทางออก หากอยากจะเพิ่มความสำเร็จในระยะยาว คือ การพยายามมองมุมกว้าง (30,000-foot view) เพื่อให้เห็นเส้นทางสู่ความสำเร็จในระยะยาวได้อย่างตลอดทาง เห็นคุณค่าของการอดทนต่อความเบื่อหน่ายในวันนี้ ว่าคือการสะสมความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้อย่างง่าย ๆ ในระยะยาว จัดสรรเวลาสำหรับงานที่น่าเบื่ออย่างสมดุลและเพียงพอ โดยไม่ลืมจัดสรรเวลาสำหรับทำในสิ่งที่รักด้วยเช่นกัน

ห้า) การลองทำก่อนที่จะรู้

คนเก่งคิดว่าการคิด คือ ทางออกของทุกปัญหา นั่นเพราะเขาเคยใช้การคิดแล้วแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้สำเร็จมามากมาย อุปมาเหมือนกับเคยใช้ฆ้อนตอกตะปู จึงถนัดที่จะใช้ฆ้อน แต่ความจริงปัญหาในโลกนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงตะปู จึงจำเป็นต้องแก้ด้วยวิธีการอื่นด้วย

ทางออก เมื่อความคิดก็อาจมีช่วงที่ตื้อตัน ติดลบ เราจึงจำเป็นต้องพักความคิดให้เป็น และหากการคิด สืบค้น ศึกษาวิจัย เพื่อหาคำตอบไม่ได้ผล เราก็ต้องพร้อมที่จะลองทำดู โดยไม่คิดมาก หรือทำโดยไม่ต้องรอให้มีข้อมูลมากพอ การลองทำดูก่อนที่จะรู้ จึงคือความท้าทายของคนที่เก่งคิด และนี่คือสิ่งที่คนเก่งต้องก้าวข้าม เพื่อถึงความสำเร็จ ที่มากกว่าเดิม อย่างที่ควรจะเป็น

หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

Reference: Alice Boyes. (2018, November). 5 Ways Smart People Sabotage Their Success. Harvard Business Review.

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments