5 หนทาง ต้านทานการติดมือถือ: 5 Ways to Counteract Your Smartphone Addiction

เรากำลังอยู่ในยุคแห่งความหลงใหลทางเทคโนโลยี และการเสพติดมือถือ เราอาจรู้สึกว่าไม่สามารถไปไหนได้ถ้าไม่มีมือถือ เกิดความกังวลใจหากไม่สามารถเช็คอีเมล และถ้าเราไม่สามารถเช็คข่าวใน Social ได้ ก็จะเกิดความกลัวขึ้นมาว่า กำลังตกขบวนหรือพลาดอะไรไปรึป่าว

เราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี แต่ก็มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไปนั้น ทำให้สุขภาพกาย สุขภาพใจ และความสัมพันธ์ของเราแย่ลง เช่นนี้แล้ว เราจะรักษาผลประโยชน์ และลดผลกระทบด้านลบจากการใช้เทคโนโลยีได้อย่างไร ต่อไปนี้คือกลยุทธ์ที่ได้มาจากงานวิจัย

1. ใช้การ “cc” และ “reply all” อย่างรอบคอบ

เราส่งอีเมลออกไปมากเท่าไหร่ เราก็จะได้รับกลับมามากเท่านั้น การ “cc” อีเมลถึงทุกคนช่วยในการทำงานร่วมกัน แต่ก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการกดตอบกลับทั้งหมด “reply all” พร้อมส่งข้อความที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับทุกคนจริง ๆ ก็จะกลายเป็นการส่งต่อภาระที่ไม่จำเป็นให้ทุกคนต้องเช็คอีเมลบ่อย ๆ เกินความจำเป็น

ดังนั้น เราจึงควร “cc” อย่างเหมาะสม ส่งถึงคนที่เกี่ยวข้องจริง ๆ เท่านั้น และหลีกเลี่ยงการตอบกลับทั้งหมด “reply all” เว้นแต่ว่าเนื้อความนั้น เป็นประโยชน์เกี่ยวข้อง จำเป็นกับทุกคนจริง ๆ

2. ปรับความคาดหวัง เวลาตอบกลับ

แต่ก่อนเราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จาก 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ทุกวันนี้ เวลางานยืดยาวออกไป อาจจะเป็น 9 ชั่วโมงในที่ทำงาน และต่อเนื่องรอบดึกที่บ้าน และทำงานทันทีเมื่อตื่นนอน

เมื่อเพื่อนร่วมงานอีเมลหรือส่งข้อความถึงเราในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะในช่วงเวลาใด ก็อาจจะมีความคาดหวังให้เราตอบกลับในทันที จึงมีคำแนะนำว่า ควรตกลงกันให้ชัดในความคาดหวัง เกี่ยวกับเวลาตอบกลับ

บริษัทข้ามชาติอย่าง Volkswagen และ Deutsche Telekom มีนโยบาย “7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม” เป็นเวลาตอบกลับ แน่นอนว่าเราสามารถส่งข้อความหากันได้ ในเวลาใด ๆ ก็ได้ แต่จะตกลงกันว่า จะไม่ตอบกลับก่อน 7 โมงเช้า หรือหลังจาก 1 ทุ่ม เพื่อร่วมกันบริหารความคาดหวัง ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

ในประเทศฝรั่งเศส มีกฏหมายว่าด้วย สิทธิ์ในการไม่เชื่อมต่อ (Right to Disconnect) ซึ่งผ่านการอนุมัติ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2560 ทำให้มีการจัดสรรเวลาที่พนักงานบริษัท ไม่จำเป็นต้องให้บริการการตอบกลับอีเมลโดยทันที

3. ให้เวลาสำหรับการพักชาร์จพลัง

สมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานตลอดเวลา เราทำงานได้ดีกว่าหากได้รับการพักผ่อน มีงานวิจัยหนึ่งได้ทำการศึกษาพนักงานออฟฟิศ 12,000 คน พบว่าคนที่พักทุก 90 นาที สามารถโฟกัสงานได้มากขึ้น 30% มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น 50% มีสุขภาพที่ดีมากขึ้น 46% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้พัก หรือพักเพียงแค่ครั้งเดียวระหว่างวัน

การพักไม่ใช่การจ้องมองโทรศัพท์หรือค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แต่อาจหมายถึงการเดินสูดอากาศ การพูดคุยกับใครสักคนนอกเหนือจากเรื่องงาน หรือการทำสมาธิ การพักใช้เวลาเพียง 10 นาทีก็เพียงพอแล้ว ถึงแม้ว่าการพักผ่อนที่ยาวนานกว่านี้จะให้ประโยชน์ที่มากกว่าก็ตาม

4. ทวงคืนเวลาสำหรับเพื่อนและครอบครัว

หากเราเห็นว่ามีการแจ้งเตือนเข้ามาทางโทรศัพท์ ถึงแม้ขณะนั้น เราจะกำลังพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนที่เรารัก มันก็ไม่ง่ายที่จะละเลยการหยิบจับมือถือ คำแนะนำก็คือ การกำหนดพื้นที่ร่วมกัน เพื่อเอื้ออำนวยให้เป็นพื้นที่ สำหรับการสนทนากันอย่างมีความหมาย พื้นที่ตรงนี้ เราจะงดการใช้มือถือ เช่น บนโต๊ะอาหาร ห้องพัก ในรถยนต์ หรือ เวลาไปร้านอาหาร ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่จะตกลงกัน

5. ไม่นำมือถือเข้านอน

พอถึงเวลาโพล้เพล้ สมองของเราจะเริ่มหลั่งสารเมลาโทนีน (Melatonin) ที่จะสะสมเพื่อช่วยให้นอนหลับ แต่จากงานวิจัยของ National Sleep Foundation และ Mayo Clinic พบกว่าแสงสีน้ำเงินจากมือถือ แท็บเล็ต และแล็ปท็อป ลดกระบวนการดังกล่าว และทำให้เกิดการหลั่งสารคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นสัญญาณให้สมองของเรากระตือรือร้นมากขึ้น ส่งผลให้เรานอนไม่หลับ ทางออกก็คือการไม่นำมือถือ แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป เข้าห้องนอ

กว่าทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยี ได้มอบการเข้าถึงข้อมูล การเชื่อมต่อ และความบันเทิงให้กับเรา ในขณะที่ก็ส่งผลเชิงลบต่อสมอง และสุขภาพของเราด้วยเช่นกัน กลยุทธ์ในบทความนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองและทีมงานของเรา พร้อมกับมั่นใจได้เลยว่า จะช่วยลดผลกระทบเชิงลบ ต่อการใช้เทคโนโลยีได้อย่างแน่นอน

แปลและเรียบเรียง โดย
— รัน ธีรัญญ์

Reference: Larry Rosen. (March, 2018). 5 Ways to Counteract Your Smartphone Addiction. Harvard Business Review

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments