ลักษณะของคนที่เรียนรู้อยู่เสมอ – Habits of People Who Are Always Learning New Skills

จากงานวิจัยพบว่า คอร์สออนไลน์ที่เราลงเรียน (Enroll) ไว้เนี่ย เราเลิกเรียนกลางครันถึง 40-80% เลยทีเดียวครับ แล้วแบบนี้จะทำอย่างไร ให้เราสามารถ Reskill/Upskill ได้สำเร็จสมความตั้งใจ



วันนี้ ผมขอนำเสนอข้อสังเกต ลักษณะของคนที่เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอจาก Harvard Business Review แบ่งเป็น 4 ข้อสังเกต ดังต่อไปนี้ครับ

1. มุ่งพัฒนาทักษะที่เร่งด่วนก่อน

ทักษะใหม่ ๆ มีเรารับรู้มา อาจกำลังดึงความสนใจให้เราห่างออกจากทักษะที่ควรพัฒนาอย่างเร่งด่วน มี 2 ทาง ที่จะทำให้เราเข้าถึงทักษะที่เร่งด่วน ที่เราควรเลือกพัฒนาก่อนครับ

หนึ่ง ติดตามดูว่าองค์กรชั้นนำกำลังจ้างคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร ในตำแหน่งที่เราสนใจ

สอง สอบถามจากหัวหน้าเรา เพื่อให้รู้ว่าเขากำลังต้องพัฒนาทักษะอะไร เพื่อให้ตัวเขายังคงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เราอาจเกรงกลัวที่จะถาม แต่จริง ๆ แล้วผู้นำของเรา ยินดีที่จะตอบคำถามนะ เพราะถ้าคุณยิ่งพัฒนา งานของเขาก็จะพัฒนาขึ้นด้วยตามลำดับ พอเรารู้ทักษะที่เร่งด่วนแล้ว ก็อาจถามความเห็นเขาต่อว่า มีวิธีการอะไรที่น่าสนใจในการพัฒนาทักษะนั้น ๆ บ้าง น่าจะได้รับคำตอบดี ๆ จากคนที่ลองถูกลองผิดมาแล้วครับ

2. เรียนรู้ร่วมกัน

จากบทความนี้ กล่าวว่า การเรียนรู้จากคอร์สออนไลน์แบบสั้นกระชับ หรือเรียกว่า Micro Learning มีส่วนช่วยให้เรียนสนุกและจบง่ายขึ้นครับ เช่น คอร์สออนไลน์ที่ Wittayakorn จะเน้นคอร์สแบบสั้นกระชับจบในเวลา 15-30 นาที

อีกด้านหนึ่งของการสร้างการเรียนรู้ที่ดี เราควรรองรับผลกระทบจากความรู้สึกว้าเหว่ (The sense of isolation) ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนขาดแรงจูงใจในการเรียน สิ่งนี้มีผลอย่างมากต่อความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในการเรียนรู้และพัฒนา การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนเป็นสิ่งที่ควรจัดให้เกิดขึ้น แม้จะเป็นคอร์สเรียนออนไลน์ นอกจากนี้ การจับคู่หรือจับกลุ่มคนที่มีเป้าหมายคล้ายกัน ให้ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เมื่อคนหนึ่งเกิดความสงสัยและตั้งคำถามขึ้นมา ทุกคนก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันด้วย

3. นำสิ่งที่เรียนไปทำจริง

ทักษะเกิดจากฝึกฝน ผมเรียนภาษาอังกฤษอยู่นานหลายปี และหวังว่าจะพูดได้บ้าง เคยถึงขนาดลงทุนส่งตัวเองไปเรียนถึงต่างประเทศ ตอนนั้นก็ทำให้พอพูดได้แบบกล้อมแกล้ม แต่พอกลับมาเมืองไทยแล้ว ก็พูดไม่ได้อยู่ดี พอเรายอมเชื่อจริง ๆ ว่า การอยากมีทักษะการพูด เราต้องได้พูดออกมาบ่อย ๆ ก็จึงเพิ่มวิธีการฝึกฝนใหม่ ๆ ให้ปากเราได้ขยับพูดออกมาจริง ๆ ทักษะการพูดจึงพัฒนาขึ้นมา

สำหรับทักษะอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราเรียนจนรู้ แต่ไม่ลงมือทำก็จะลืม เสียของที่เรียนมาครับ กลับไปเรียนอีกก็จะตกอยู่ในวังวนที่เรียกว่า “ดินแดนแห่งทฤษฎี” (Theory land) เรียนมากเข้า ๆ เผลอ ๆ อาจจะพาล ไปปะทะคารมกับคนที่ตกอยู่ในวังวนเดียวกัน คือ ทะเลาะกันเพราะทฤษฎีครับ หาคนที่ลงมือทำจริง แล้วพากันไปลงมือทำดีกว่าครับ

4. มีเป้าหมายที่ทรงคุณค่า

เราอาจมีเป้าหมายขนาดเล็ก ๆ ระหว่างทาง แต่เป้าหมายหรือคุณค่าบางอย่าง จะขับเคลื่อนให้เรามีความอดทน อุตสาหะ การค้นพบเป้าหมายที่ทรงคุณค่ามากพอ จะประทับอยู่ในใจเรา ในวันที่เราท้อแท้ ภาพนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราก้าวต่อไปได้ครับ เช่น การเห็นภาพความสำเร็จที่ชัดเจนหลังเลื่อนตำแหน่งงาน มีคนที่ร่วมยินดีกับเรา ภาพนี้จะทำให้การเรียนคอร์สออนไลน์สักคอร์สเป็นแค่ทางผ่าน ที่เราไม่ลังเลใจในระหว่างเรียนครับ

บางคนมีเป้าหมายใหญ่กว่าทำเพื่อตนเอง แต่เป็นใจที่พร้อมทำเพื่อสังคม ทำเพื่อประเทศ หรือทำเพื่อโลกนี้จริง ๆ เขาเหล่านั้นก็จะมีพลังมาก และถ้าการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง มีความจำเป็นต่อเป้าหมายของเขา เขาก็จะมีพลังในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสูงเช่นเดียวกันครับ

เมื่อเราบรรลุผลสำเร็จในการเรียนรู้แล้ว เราก็สามารถตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ต่อไป จนกลายเป็นนิสัยสำคัญของนักเรียนรู้ คือ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตครับ

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments