คุณค่าของสติและสมาธิในการทำงาน: The Value of Meditation and Mindfulness

คุณค่าของการฝึกสติในมิติขององค์กรนั้น ประกอบด้วย 5 ประการ คือ (1) สติช่วยลดความเครียดและป้องกันอาการหมดไฟ (2) สติช่วยลดอัตราการลาออกที่ไม่พึงประสงค์ (3) สติช่วยเพิ่มผลผลิตและความผูกพันในองค์กร (4) สติช่วยดึงดูดคนเก่งให้อยากมาทำงานในองค์กร และ (5) สติช่วยเพิ่มความสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยได้เขียนรายละเอียดไว้ในบทความ 5 เหตุผล ที่บริษัทควรฝึกอบรมด้านสติ สำหรับบทความนี้ จะอธิบายถึงคุณค่าของสติและสมาธิ ในแง่ของบริบทคนทำงาน ดังนี้

สติ

การมีสติในการทำงาน คือ การทำงานทีละอย่างด้วยความเต็มเปี่ยม เราตระหนักรู้ว่าถึงแม้เราจะงานยุ่งแค่ไหน แต่เราก็สามารถทำได้ทีละอย่างอยู่ดี เราอาจเคยได้ยินคำว่า “Multitasking” ซึ่งหมายถึงการทำหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน แต่หากลองสังเกตดี ๆ ในความรวดเร็วฉับไวนั้น เราก็กำลังทำทีละอย่างอยู่ดี แม้นิ้วที่รัวบนแป้นคีย์บอร์ดก็สัมผัสกดลงแป้นทีละนิ้ว ถ้าเราคิดเรื่องอื่นพร้อมกับการทำงานอีกอย่าง เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นสิ่งนี้ เมื่อสังเกตเห็นว่าเรากำลังทำหนึ่งอย่าง นั่นก็คือเรากำลังมีสติในการทำงาน

หากเราทำงานอย่างมีสติ เราจะมีความสุขในขณะที่กำลังทำ เราจะรู้สึกผ่อนคลายจากความคิดที่ว่า “งานยุ่งจังเลย” เราจะทำงานไปพร้อมกับการมีพื้นที่ว่างในใจ ให้สามารถเปิดรับผู้คน และเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจแทรกเข้ามา โดยไม่รู้สึกต่อต้าน หรือขัดเคืองใจ

สติ (Mindfulness) มาจากรากศัพท์ของภาษาบาลีว่า Sati ซึ่งหมายถึงการสังเกตอย่างเป็นกลางโดยปราศจากความลำเอียง คือการตระหนักรู้ ณ ที่นี่และขณะนี้ (Here and Now) ตระหนักรู้ว่าคิดอะไร รู้สึกอย่างไร โดยปราศจากการต่อต้าน (Subirana, 2014)

การขาดสติในการทำงาน จะทำให้เราตกอยู่ในโหมดอัตโนมัติ (The Automatic-Pilot Mode) เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ไปตามยถากรรมอย่างที่คุ้นเคย ถ้าความคุ้นเคยนั้นยังคงใช้การได้อยู่ เราก็จะไม่รู้เลยว่าสติมีความสำคัญอย่างไร เหตุการณ์ความไม่แน่นอน เป็นเครื่องเตือนใจให้เรามีสติ แต่การฝึกสติไว้ก่อนเจอเหตุการณ์ความไม่แน่นอนย่อมดีกว่า

สมาธิ

สำหรับคนทำงานชั้นดีในองค์กร เขาทำงานได้อย่างมี Productivity สูงมาก ๆ บางทีก็ทำงานจนหมดพลังนั่นแหละจึงเริ่มได้ครุ่นคิดถึงวิธีการที่จะพื้นคืนพลัง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการทำสมาธิ

สมาธิ (Meditation) มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า Mederi เป็นที่มาของคำว่า Medical, Medicine, Meditation และคำว่า Medication ในภาษาอังกฤษนั้น แปลว่า การเยียวยารักษา (Healing) ฮิปโปเครติส (Hippocrates) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งการแพทย์ ได้กำหนดความหมายของ คำว่า ความเจ็บป่วย (Illness) ว่าคือการขาดความกลมเกลียว และกำหนดความหมายของ คำว่า สุขภาพ (Health) ว่าคือความกลมเกลียวที่เต็มเปี่ยม (Full Harmony) เมื่อเราทำสมาธิก็เหมือนได้คืนความกลมเกลียวภายใน (Subirana, 2014)

การทำสมาธิ จึงคือการสร้างความกลมเกลียวภายใน ช่วยให้ร่างกายกลมเกลียวกับลมหายใจ เราอาจทำสมาธิผ่านอุปกรณ์หรือเรียกว่า “เครื่องอยู่” หมายถึงสิ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้เรามีความสุข แต่ละคนอาจมี “เครื่องอยู่” ไม่เหมือนกัน .เราอาจค้นพบ “เครื่องอยู่” ในแบบของเราเอง ด้วยการตอบคำถามว่า “อะไรคือสิ่งเล็กที่สุด หาได้ง่ายที่สุด ที่ทำให้ฉันมีความสุข” คำตอบนั้นแหละจะเป็น “เครื่องอยู่” สำหรับเราในวันที่ท้าทาย

การนำสติเข้าสู่องค์กร

เป็นไปได้ 2 แบบ

(1) นำสติเข้าแบบตรง ๆ ผ่านการจัดฝึกอบรม Mindfulness หรือ Mindful Leader ออกแบบโปรแกรมด้วยวิธีแบบดั้งเดิม (Traditional) หรือปรับประยุกต์ผ่านกิจกรรมฝึกสติ หรือทั้ง 2 แบบผสมกัน

(2) นำสติเข้าแบบอ้อม ๆ ผ่านการพัฒนาภาวะผู้นำแบบหนึ่ง ที่สติเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เช่น Facilitative Leadership หรือภาวะผู้นำที่ต้องอาศัยทักษะการฟัง การเข้าถึงความรู้สึกตนเองและผู้อื่น อาจแทรกสติเข้าไปในโปรแกรมพัฒนากลุ่ม Change Agent หรือ Sustainable Agent เป็นต้น

เมื่อสติถูกติดตั้งในระดับบุคคลแล้ว สติจะถูกติดตั้งในระดับองค์กรด้วย

“สร้างความกลมเกลียวจากภายใน เปิดรับความเป็นไปจากภายนอก” คำนี้ ใช้ได้ทั้งระดับบุคคลและองค์กร

Reference:

  • Subirana, M. (2014). The Value of Meditation and Mindfulness: Key Facilitation Skills. doi 10.12781/978-1-907549-20-5-2

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments