การพัฒนาความสามารถในการปรับตัว : developing adaptability

การทำสิ่งเดิมซ้ำๆ มีประโยชน์ช่วยให้เกิดความชำนาญในสิ่งที่ทำ แต่ทุกความชำนาญไม่อาจสำเร็จได้ หากขาดนวัตกรรมที่เหมาะสมตามบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และ หากเรามัวจมจ่อมกับความสำเร็จเดิมๆ จนลืมเงยหน้าขึ้นมามองการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ไม่ฉุกคิดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ ปรับตัว ก็อาจทำให้เราหลุดจากความสำเร็จที่กำลังเชยชมอยู่ตรงนั้น อย่างไม่รู้ตัวได้เลยทีเดียว

ความกลัวมักจะแฝงตัวมาอย่างแนบเนียนในความคิด ซึ่งจะหาข้ออ้างให้เราไม่เปลี่ยนแปลง เทคนิคก็คือ เราต้องแหวกก้อนเมฆแห่งความคิด ออกจากเหตุผลเดิมๆ เมื่อไม่มีก้อนเมฆเราจะพบกับท้องฟ้า โลกด้านในของเราจะอยู่ในสภาวะฟ้าใส (beginner’s  mind) เมื่อไม่มีก้อนเมฆแห่งความคิดมาบดบัง ก็จะทำให้เรามองเห็นก้อนเมฆแต่ละก้อนได้อย่างแจ่มชัด งานเขียนนี้ จะได้แนะนำแนวทาง แนวคิด มุมมองต่างๆ เพื่อพัฒนาความสามารถในการปรับตัว (adaptability)

หนึ่ง) การเรียนรู้แบบรอบคู่ (double loop learning)

การเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ จะเกิดขึ้นแบบเหตุกับผล คือ เมื่อทำเหตุแล้วได้ผลดีก็ไปทำเหตุเพิ่ม เมื่อทำเหตุแล้วได้ผลไม่ดีก็ไปลดเหตุลง เช่น เปิดร้านกาแฟแล้วขายดี ก็ไปขยายสาขาเพิ่ม เปิดร้านกาแฟแล้วถ้าขายไม่ดี ก็ไปลดสาขาหรือปิดตัวลง เรียกการเรียนรู้เช่นนี้ว่า การเรียนรู้วงรอบเดี่ยว (single loop learning) ถ้าการตัดสินใจนั้นถูกต้องก็จะโชคดี แต่ถ้าการตัดสินใจนั้นผิดพลาดก็จะผิดอยู่อย่างนั้น ผิดซ้ำๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่มีการทบทวนที่ลึกซึ้งไปกว่าเหตุผลเดิมๆ

ยังมีการเรียนรู้อีกแบบ เราเรียกว่า การเรียนรู้แบบรอบคู่ (double loop learning) คือ ไม่ว่าจะได้ผลดีหรือไม่ดี เราก็จะกลับไปทบทวนต้นเหตุของเหตุ ในระดับเป้าหมาย คุณค่า ความเชื่อของเรา เช่น เปิดร้านกาแฟทำไม ชอบที่ได้ทำ อยากมีร้านเป็นของตัวเอง อยากให้บริการคนใกล้บ้าน หรือ อยากได้รายได้มากที่สุด เมื่อทบทวนต้นเหตุของเหตุแห่งการเปิดร้านกาแฟ จะทำให้เราได้คำตอบในมุมมองใหม่ ซึ่งอาจไม่ใช่ทั้งการเพิ่มหรือลดจำนวนสาขา แต่อาจคือ การพัฒนาร้านกาแฟให้ตรงกับความเชื่อ คุณค่าที่แท้จริงของเราเอง ไม่หลงติดกับดักการเรียนรู้แบบวงรอบเดี่ยว (single loop learning) ที่ตัดสินถูกผิดดีชั่วจากเพียงผลลัพธ์  หรือ แรงขับที่เป็นค่่านิยมภายนอก การเรียนรู้แบบรอบคู่ (double loop learning) จึงช่วยให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น ช่วยเพิ่มสมรรถนะด้านความสามารถในการปรับตัว (adaptability)

สอง) ตระหนักรู้ถึงรูปแบบความคิด (mental model)

ก้อนเมฆทางความคิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปแบบความคิด (mental model) มีนิทานเล่าถึงเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ ชื่อเรื่องว่า มนุษย์ถ่้ำ กาลครั้งหนึ่งมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำไม่ยอมออกไปไหนเลย สิ่งที่พวกเขาเห็นก็คือเงาของสัตว์ที่วิ่งผ่านหน้าถ้ำ เขาไม่เคยเห็นสัตว์เหล่านั้นจริงๆ วันหนึ่งมีมนุษย์ผู้หนึ่งเกิดเห็นต่าง คิดอยากออกไปนอกถ้ำ ทำให้พรรคพวกมนุษย์ถ้ำ รังเกียจเดียดฉันท์ หาว่าคิดชั่วช้า จึงขับไล่เขาออกจากถ้ำไป เมื่อออกจากถ้ำเขาได้พบกับสิงสาราสัตว์ตัวจริง และ ได้พบกับมนุษย์ถ้ำผู้เฒ่าคนหนึ่ง เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของมนุษย์ถ้ำให้เขาฟังว่า แต่ก่อนมนุษย์ถ้ำทั้งหลายก็อาศัยอยู่โลกข้างนอกนี่แหละ และ สร้างหอคอยขึ้น 2 ฝั่งของหมู่บ้าน หอคอยหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อีกหอคอยหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกและหันไปทางทิศตะวันตก เมื่อมนุษย์ถ้ำกลุ่มหนึ่งขึ้นทางหอคอยหนึ่งที่อยู่ทางทิศตะวันออก ก็ได้พบกับผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์ จึงคิดทำเครื่องมือจักสานสำหรับออกเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนมนุษย์ถ้ำอีกกลุ่มหนึ่งที่ขึ้นหอคอยทางฝั่งตะวันตก ก็ได้พบกับสัตว์ร้าย และ ความทุรกันดาร จึงคิดทำอาวุธเพื่อออกล่าสัตว์ จะเห็นว่ามนุษย์ถ้ำทั้ง 2 กลุ่มมีความคิดเห็นต่างกัน เริ่มเข้ากันไม่ได้ก็เพราะขึ้นหอคอยคนละทิศ เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์ถ้ำกลุ่มที่มีอาวุธก็ห้ำหั่นฆ่ามนุษย์ถ้ำที่ไม่มีอาวุธ จนในที่สุดก็ห้ำหั่นฆ่าฟันกันเอง จนต้องหนีกันไปอยู่ในถ้ำ นิทานเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร้ายกาจในการยึดติดกับรูปแบบความคิด (mental model) ของตนเอง หรือ กลุ่มตนเอง จนบานปลายเกิดเป็นสงครามขึ้นมาเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นแล้ว ทางที่ดีเราอย่ารีบด่วนสรุป อย่ารีบเชื่อความคิดของตนเอง ฝึกตระหนักรู้เสมอว่าเรากำลังตัดสินใจบนรูปแบบความคิด (mental model) แบบไหน ของใคร เฉพาะเจาะจง หรือ เป็นสากล การตระหนักรู้ถึงรูปแบบความคิด (mental model) ก่อนตัดสินใจจะช่วยเพิ่มสมรรถนะด้านความสามารถในการปรับตัว (adaptability)

สาม) มีชุดความคิดแบบก้าวหน้า (growth mindset)

การมีชุดความคิดแบบก้าวหน้า (growth mindset) คือ มีมุมมองต่อคำว่า “ทักษะ” ว่าเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้จากการทำงานหนัก และ สามารถปรับปรุงได้เสมอ เห็นผู้อื่นทำได้ ก็คิดว่าเราทำได้เช่นกัน มีมุมมองต่อคำว่า “ท้าทาย” ว่าเราสามารถเอาอยู่เป็นโอกาสในการเติบโต มีความเด็ดเดี่ยวไม่ยอมแพ้ มีมุมมองต่อคำว่า “ความพยายาม” ว่าเป็นประโยชน์ เป็นทางสู่การเป็นนายตนเอง มีมุมมองต่อการรับ “เสียงสะท้อน” ว่ามีประโยชน์ เป็นสิ่งที่จะได้เรียนรู้ เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ มีมุมมองต่อ “ความพ่ายแพ่” ว่าเป็นทางแห่งการตื่นตัวและเริ่มใหม่ด้วยความพยายามที่มากขึ้น การมีชุดความคิดแบบก้าวหน้า (growth mindset) จะช่วยเพิ่มสมรรถนะด้านความสามารถในการปรับตัว (adaptability)

สี่ ) ปรับสมองออกจากโหมดปกป้อง (defense mechanism)

ชีวิตที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน ถูกกดดันด้วยเหตุการณ์บางอย่าง จนทำให้เราตึงเครียด สมองของเราจะตัดเข้าสู่โหมดปกป้อง (defense mechanism) เพื่อเอาตัวรอด (survive) หากโหมดปกป้องของเราไม่ได้รับการฝึกฝน ก็จะแสดงออกด้วยความท่าทีที่ก้าวร้าว ระราน ต่อว่า (fight) บิดเบือน หนีหาย กลบเกลื่อน (flight) หรือ นิ่ง งอน ไม่มีส่วนร่วมใดๆ (freeze) การเท่าทันอาการทางกาย จะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนท่าทางเพื่อช่วยปรับผ่อนพลังงานภายใน ให้สมองกลับมาสมดุล กลายเป็นเพียงโหมดปกป้องที่ไม่ส่งผลร้ายแรง จนในที่สดุก็จะเท่าทัน และ กลับมาอยู่ในโหมดปกติได้ การฝึกฝนออกจากโหมดปกป้อง (defense mechanism) จะช่วยเพิ่มสมรรถนะด้านความสามารถในการปรับตัว (adaptability)

ห้า ) บ่มเพาะพลังชีวิต ให้อยู่ในสภาวะไหลลื่น (flow state)

สภาวะไหลลื่น หรือ โฟล (flow state) คือ สภาวะแห่งสมาธิ เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้นานๆ โดยลืมดูนาฬิกา รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีความสุขจากภายใน เกิดจากการได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่ท้าทาย ในระดับที่พอเหมาะกับความสามารถ ทำให้ทำได้อย่างตื่นตัว ไม่กังวล และ ไม่น่าเบื่อ การบ่มเพาะพลังชีวิต ให้อยู่ในสภาวะไหลลื่น (flow state) จะเป็นต้นทุนสำคัญให้เราสามารถปรับเปลี่ยนตนเอง (adaptability) ให้กลับคืนสู่ปกติได้อย่างรวดเร็วขึ้น เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน

หก) ฝึกสละละวางสิ่งที่ไม่เวิร์ค (sunk cost fallacy)

หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของเราเกิดการลงทุนไปแล้วแต่ไม่สำเร็จ ทั้งลงทุนด้วยเงิน และ ลงทุนด้วยเวลา จึงเกิดความผูกพันและเกิดความเสียดายต้นทุนเหล่านั้น เช่น คบกับแฟนมานานแต่ไม่ค่อยเวิร์คหาใหม่ง่ายกว่า แต่เราผูกพันและเสียดายเวลา ผูกพันทางใจไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ยอมเลิกเพราะเสียดายเวลาที่คบกันมานานนี่ เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า หลงผิดกับต้นทุนที่จมไปแล้ว (sunk cost fallacy) ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมาก เช่น ซ่อมเสื้อผ้าเก่าๆในราคาแพงๆ ทั้งที่ซื้อใหม่สวยกว่า ถูกกว่า เป็นต้น บางสิ่งบางอย่างคนกลุ่มหนึ่งได้สละละวางไปแล้ว แต่คนอีกกลุ่มกลับยังคงแย่งชิงไขว่คว้าให้ได้มา เอาเข้าจริงๆ ไม่มีสิ่งใดที่เรายึดมั่นอย่างแน่นหนาได้ตลอดไป การหลงผิดกับต้นทุนที่จม (sunk cost fallacy) จะเป็นอุปสรรคในการปล่อยวาง และ เปลี่ยนแปลง การเท่าทันในเรื่องนี้ จะช่วยเพิ่มสมรรถนะด้านความสามารถในการปรับตัว (adaptability)

เจ็ด) ขยายขอบเขตความสามารถ (hot-cold empathy gap)

มนุษย์เราจะมีทักษะที่เก่งกาจสามารถ แต่หากสังเกตให้ดีเราอาจจะเก่งมากในบริบทหนึ่งๆ สถานการณ์หนึ่งๆ สถานที่หนึ่งๆ เรียกสถานะนี้ว่า cold state เมื่อเปลี่ยนบริบทไป เปลี่ยนสถานการณ์ ไปในที่ใหม่ๆ ความเก่งกาจของเราก็จะตกต่ำลงไป เรียกสถานะนี้ว่า hot state เช่น เป็นคนคุยสนุกขบขันมากในกลุ่มเพื่อน แต่พอให้คุยในวงกว้างที่สาธารณะกลับไม่สามารถทำได้ และ ไม่กล้าที่จะทำ ก็แสดงว่า การพูดในวงเล็กๆในกลุ่มเพื่อน นี่ก็คือ cold state ส่วนการพูดในวงกว้างๆ ในที่สาธารณะ นี่ก็คือ hot state ของเขา คือ ความสามารถไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น เกิดระยะระหว่างความสามารถที่แท้จริง กับที่ทำได้ เรียกว่า hot-cold empathy gap สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ การสังเกตว่าเรามีระยะห่างตรงนี้มากน้อยแค่ไหน การลดระยะห่างความสามารถ หรือ hot-cold empathy gap ก็คือการขยายขอบเขตความสามารถของเรา ไปในที่ที่ไม่คุ้นเคยเราก็สามารถทำได้ด้วย ให้ความสามารถของเรามีความมั่นคง มีความสม่ำเสมอ เรียกว่า top form ได้ทุกที่ การลดความกลัว ทำได้ดีในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย จะช่วยเพิ่มสมรรถนะด้านความสามารถในการปรับตัว (adaptability)

สมรรถนะด้านความสามารถในการปรับตัว (adaptability) ไม่สามารถเรียนรู้พัฒนาได้จากการอ่าน แต่จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์ตรง ทบทวนเรียนรู้เป็นกลุ่ม กระบวนการทางจิตตปัญญา (contemplative learning) จะจำลองสถานการณ์ผ่านกุศลโลบายต่างๆ ให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยสามารถได้เรียนรู้ และ พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ได้

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments