การเข้าถึงใจ (Empathy) คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น รวมถึงมุมมองที่เขามองสิ่งต่างๆ เป็นสมรรถนะสำคัญหนึ่งใน 12 สมรรถนะของ ผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์และสังคม (Emotional and Social Competency Inventory) และ เป็นพื้นฐานสำคัญของการบริหารจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management)
การเข้าถึงใจ (Empathy) สามารถแบ่งตามวงจรการทำงานของสมอง ได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ การเข้าถึงใจผ่านมุมมองความคิด (Cognitive Empathy) และ การเข้าถึงใจผ่านอารมณ์ความรู้สึก หรือร่วมรู้สึก (Emotional Empathy) และหากอ้างอิงข้อมูลจาก University of California – Davis จะแบ่งออกเป็น 3 แบบ โดยเพิ่ม การเข้าถึงใจผ่านกระกระทำ จุ่มแช่ ให้การช่วยเหลือ (Compassionate Empathy) เรียกรวมกันว่า “3 Stages of Empathy” ประกอบด้วย
- เข้าถึงใจผ่านความคิดของเรา (Cognitive Empathy)
- เข้าถึงใจผ่านอารมณ์ความรู้สึกร่วม (Emotional Empathy)
- เข้าถึงใจผ่านการลงมือช่วยเหลือ (Compassionate Empathy)
สมองกับการเข้าถึงใจ
อินซูล่า (Insula) เป็นพื้นที่หนึ่งในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก (Emotional Empathy) มันทำให้เรารู้สึก ผ่านสัมผัสของร่างกายตัวเองที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่ออินซูล่าของผู้อื่นทำงาน อินซูล่าของเราก็ทำงานด้วยเช่นกัน
ฟิวซิฟอร์ม (Fusiform) เป็นส่วนหนึ่งใน วิชวลคอร์เทกซ์ (Visual Cortex) มันช่วยแปลสัญญาณการมองเห็นของเรา จากสีหน้าแววตาผู้อื่น กลายเป็นการเข้าถึงใจทั้งการเข้าถึงใจผ่านความคิด (Cognitive Empathy) และ การเข้าถึงใจผ่านอารมณ์ความรู้สึก หรือร่วมรู้สึก (Emotional Empathy)
ลักษณะผู้นำที่เข้าถึงใจ
ผู้นำที่เข้าถึงใจ (Empathic Leaders) จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนที่แตกต่าง หลากหลายวัฒนธรรม สามารถนำเสนอไอเดีย ให้กับทุกคนให้เข้าใจได้ง่าย ผู้นำที่เข้าถึงใจ ไม่ใช่บุคคลที่รู้ใจคนอื่น เพื่อเข้าไปควบคุมจัดการ แต่เป็นผู้นำที่มองหาการหลอมรวม เพื่อการทำงานร่วมกันได้อย่างดีที่สุด
ความสมดุลจากภายใน
การเข้าถึงใจที่มากไป (Excessive Empathy) อาจนำไปสู่ความเกรงใจในความรู้สึกของผู้อื่นมาก จนไม่กล้าให้ข้อเสนอแนะใดๆ กับผู้อื่น การท้าทายความสัมพันธ์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ สามารถทำได้โดย การให้ข้อเสนอแนะอย่างซื่อตรง ด้วยท่าทีผ่อนคลาย แบบสบาย ๆ ด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม ในวาระเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น สมรรถนะที่จำเป็นต้องมีควบคู่กันก็คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
แนวทางการฝึกฝน
หนึ่ง ) หมั่นตั้งคำถาม ถามตัวเองว่า เขาคิดอะไร ? เขารู้สึกอะไร ? ฝึกอ่านอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นจากภาษากาย โดยไม่ตัดสิน ไม่ด่วนสรุปเอาเอง เท่าทันเรื่องราวของเขาก่อนการพบหน้า ฝึกเข้าถึงใจก่อนเริ่มต้นบทสนทนา
สอง ) ฝึกจดจ่อในการประชุม อาจหาคนจดบันทึกแทนเรา แล้วตั้งใจฟัง มองไปที่คนพูดเสมอ ทุกๆครั้งที่คนพูดมองมา ให้เขาเห็นว่าเราฟังอยู่ ฝึกซ้ำ ๆ ให้เรามีความใส่ใจผู้อื่น จนเป็นธรรมชาติ
สาม ) ฝึกจดจำได้ว่า อะไรที่เขาชอบ อะไรที่เขาไม่ชอบ เริ่มตั้งแต่สิ่งนอกตัวของเขา อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เวลาตื่น เวลานอน รวมถึงสิ่งกระตุ้น (trigger) ที่มักสะกิดใจ ให้อารมณ์ของเขาเปลี่ยนแปลง
สี่ ) ฝึกขยายใจ (circle of compassion) ด้วยการทำความรู้สึกว่า ผู้คนรอบ ๆ ตัวเรา เป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นคนในครอบครัวเรา เพราะความกรุณานั้น มีอยู่ในใจของเราทุกคนอยู่แล้ว เพียงแค่ขยายวงกว้างออกไป ฝึกใส่ใจผู้คน เช่นเดียวกับคนที่เรารัก
ห้า ) ฝึกชื่นชมสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในระหว่างวัน ทำบางสิ่งเล็กๆ เพื่อตอบแทนคุณประโยชน์ของสังคม และ ธรรมชาติรอบตัว นอกจากนี้ เราอาจเขียนถึงสิ่งดี ๆ เหล่านั้นในบันทึกของเราก่อนนอน
หก ) ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) และ แบ่งปันเรื่องราวในใจ กับคนที่ไว้ใจ อาจตั้งวงสนทนา (dialogue) กับเพื่อนกลุ่มเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลงลึกในความรู้สึกได้มากขึ้น ตามวาระโอกาส
การเข้าถึงใจผู้อื่น จะมีความมั่นคงขึ้น เมื่อเราเข้าถึงใจตัวเองให้ได้ก่อน อุปมาดั่งตอม่อของสะพาน การเข้าถึงใจตนเอง ก็คือ การสร้างฐานรากของตอม่อให้กับ สะพานที่เชื่อมใจกันและกัน
Goleman, D. (2017). Empathy: An Introduction. Empathy: A Primer. MA: More Than Sound.
Davidson, R. J. (2017). Empathy: A Brain Science Perspective. Empathy: A Primer. MA: More Than Sound.
Druskat, V. (2017). Team and Empathy. Empathy: A Primer. MA: More Than Sound.
Boyatzis, R. (2017). Empathy in Action. Empathy: A Primer. MA: More Than Sound.
Davidson, R. J. (2017). How to Develop Empathy. Empathy: A Primer. MA: More Than Sound.
Kohlrieser, George. (2017). Empathy: Bonding for Effective Leadership. Empathy: A Primer. MA: More Than Sound.