ในอดีตผู้นำมีบทบาทบอกให้ผู้ตามทำตาม อันนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่ทำไปด้วยความทนอด ทำถูกได้รางวัล ทำผิดถูกลงโทษ ทีมงานจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ต้องออกความคิดเห็นใด ๆ เมื่อเวลาเปลี่ยน โลกได้เปลี่ยนไป เราพบความจริงว่า แม้ผู้นำที่เก่งกาจเพียงใดก็ยังมีจุดบอด และ มนุษย์ทุกคนเรียนรู้พัฒนาตนเองได้ แนวทางการทำงานแบบร่วมคิดร่วมทำจึงเกิดขึ้น “Facilitative Leader” จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุนี้ครับ
Facilitative Leaders มีท่าทีมุ่งเน้นใน 4 ส่วนหลัก คือ เน้นการมีส่วนร่วม, เน้นกระจายอำนาจ, เน้นทางเลือก ไม่ยึดติด และ เน้นสนับสนุน สร้างการเรียนรู้
1. เน้นการมีส่วนร่วม
มุ่งเน้นที่กระบวนการทำงานร่วมกัน ไม่คาดหวังให้ได้ผลอย่างใจตน เน้นฉันทามติ หรือ ทุกคนยอมรับในผลแม้ไม่สมบูรณ์แบบดังใจตน ยอมรับความต่าง เชื่อว่าไอเดียดี ๆ มาจากความต่าง
2. เน้นกระจายอำนาจ
บริหารงานอย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลอย่างทั่วถึง วางใจในพันธสัญญาร่วมกัน ให้เกียรติกัน ไม่เกาะติด กดดันให้คนอื่นทำอย่างที่พูด เปิดพื้นที่ให้ทีมงานเรียนรู้จากการแก้ปัญหาเอง ไม่ออกอาการคัดค้าน เกื้อหนุนให้ทีมบริหารจัดการตนเอง (Self-organizing Team) และ ฝึกความรับผิดชอบร่วมกัน (Sense of Accountability)
3. เน้นทางเลือก ไม่ยึดติด
มองเห็นทางเลือกเสมอ และ เมื่อเกิดปัญหาไม่ด่วนสรุป มองว่าอาจมีหลายสาเหตุกว่าที่คิด ไม่ต่อว่าคนอื่นที่ไกลออกจากตัว เพียงเพื่อให้ตัวเองสบายใจ มองทุกคนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน มองการรับรู้ของตนว่าเป็นเพียงสมมติฐานที่จะตรวจสอบ ไม่ตัดสินใจมั่นเหมาะบนสมมติฐานหรือข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ตรวจสอบสมมติฐานของตนเอง ผ่านมุมมองของคนอื่น ๆ เสมอ
4. เน้นสนับสนุน สร้างการเรียนรู้
มีส่วนเกื้อหนุนให้กลุ่มประสบความสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำโดยตำแหน่ง สนับสนุนวิธีการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ไม่จ้องเปลี่ยนแปลงใคร มองความเห็นผิดว่าคุ้มค่าที่จะเรียนรู้ เน้นสอนทีมงานให้มีสันติสุขในใจ แทนการคลี่คลายความขัดแย้งจากคนอื่น
ในปี 2017 มีนักการศึกษาจีน 3 คน ได้ร่วมกันเสนอรูปแบบใหม่ของภาวะผู้นำสากล (International Leadership) โดยเรียกกว่า “International Facilitative Leadership” (Chen, Z., Zhou, G., and Wang, S., 2017) ประกอบด้วย 4 คุณลักษณะ ดังนี้
- เป็นผู้นำร่วมกัน มากกว่า เป็นผู้นำรวบอำนาจ
- เป็นผู้นำดึงดูดใจ มากกว่า เป็นผู้นำบีบบังคับใจ
- เป็นผู้นำที่ชนะร่วมกัน มากกว่า เป็นผู้นำที่ชนะฝ่ายเดียว
- เป็นผู้นำที่ให้อำนาจ มากกว่า เป็นผู้นำที่ให้การค้ำจุน
“The key features of a facilitative leader are collective rather than hegemonic leadership, attractive rather than coercive leadership, win-win rather than solipsistic leadership and empowering rather than patronal leadership.” (Chen, Z., Zhou, G., and Wang, S., 2017)
Facilitative Leader vs Facilitator
สำหรับความแตกต่างระหว่าง Facilitative Leader และ Facilitator นั้น อาจจะไม่มีสิ่งชี้ชัด แต่ก็พอจะสังเกตได้คร่าว ๆ ว่า Facilitative Leader นั้น มักเป็นส่วนหนึ่งของทีม มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกันร่วมอยู่ด้วย มักมีความเชี่ยวชาญทั้งในส่วนของกระบวนการ และ เนื้อหาด้านนั้น ๆ
สำหรับ Facilitator นั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการ แต่ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญในเนื้อหา มักเป็นคนภายนอกกลุ่ม จึงไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องในการตัดสินใจของทีมงาน แต่สามารถใช้กระบวนการเพื่อสร้างการมีส่วนรวมในการตัดสินใจให้กับกลุ่มได้ครับ
.
Reference :
Chen, Z., Zhou, G., and Wang, S. (2017). Facilitative Leadership and China’s New Role in the World. doi 10.1007/s41111-017-0077-8.