สอนให้ฝึก ฝึกไม่สอน : Teaching How to Practice

ระหว่างที่ผมกำลังศึกษาเรื่อง “Facilitative Leader” ให้ครอบคลุมลงลึกมากขึ้นทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎี ก็พบเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ คิดว่าน่าสอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของใครหลาย ๆ คน ซึ่งจะทำให้เข้าใจเรื่อง “Facilitative Leader” ในเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วครับ เรื่องเล่านี้จะมีประโยชน์มาก ๆ กับผู้นำที่กำลังสนใจทักษะการสอนงานที่ทันสมัย รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องการแนวคิด ในการสอนลูก ๆ หลาน ๆ ด้วยครับ

ในปี 2017 มีนักการศึกษาจีน 3 คน ได้ร่วมกันเสนอรูปแบบใหม่ของภาวะผู้นำสากล (International Leadership) โดยเรียกกว่า “International Facilitative Leadership” ประกอบด้วย 4 คุณลักษณะ คือ มีความเป็นผู้นำร่วม (Collective Leadership) มากกว่าเป็นผู้นำแบบมหาอำนาจ (Hegemonic Leadership) มีความเป็นผู้นำแบบดึงดูดใจ (Attractive Leadership) มากกว่าเป็นผู้นำแบบบีบบังคับ (Coercive Leadership) มีความเป็นผู้นำแบบชนะร่วมกัน (Win-Win Leadership) มากกว่าการเป็นผู้นำเพื่อตัวตน (Solipsistic Leadership) และ มีความเป็นผู้นำแบบให้อำนาจ (Empowering Leadership) มากกว่าการเป็นผู้นำแบบอุปถัมภ์ (Patronal Leadership) (Chen, Z., Zhou, G., and Wang, S., 2017)

Rally ผู้เขียนหนังสือ The Facilitative Leader ได้เชื่อมโยงความเข้าใจเบื้องต้น เกี่ยวกับภาวะผู้นำกระบวนการ ผ่านเรื่องราวการสอนลูกว่ายน้ำของคุณแม่ 2 คน คุณแม่ทั้ง 2 คนเป็นพี่น้องกัน เธอทั้ง 2 คน มีลูกสาววัย 5 ขวบ ชื่อ Alexis และ Emily ตามลำดับ ทุก ๆ ปี ครอบครัวของพวกเธอจะนัดรวมกัน เพื่อเดินทางไปพักผ่อนต่างอากาศที่ชายหาด

ก่อนที่ Alexis ลงเล่นน้ำที่ชายหาด แม่ของเธอจะสอนอยู่ 3 ข้อ คือหนึ่ง ให้เล่นอยู่หน้า Lifeguard ไว้นะ ข้อสอง แม่ของเธอจะสอนว่า เห็นเชือกนั้นไหม… ให้อยู่ห่างจากเชือกที่กั้นนะ และ ข้อสาม เมื่อตอนที่คลื่นซัดมา ให้สังเกตว่าน้ำไม่ลึกไปกว่าหน้าอกตรงนี้นะ จากนั้นแม่ของเธอก็นั่งอ่านหนังสืออยู่ใกล้ ๆ และ คอยสอดสายตาผ่านหนังสือ ออกไปมอง Alexis อยู่เป็นระยะ ๆ

ในขณะที่ เมื่อ Emily จะลงเล่นน้ำ แม่ของเธอบอกเพียงแต่พูดว่า เล่นน้ำให้สนุกนะลูก แต่อย่าเล่นน้ำลึก แต่พอ Emily ลงเล่นน้ำ แม่ของเธอจะคอยตะโกนเตือนแทบจะตลอดเวลา เช่น ขณะที่ Emily เริ่มออกห่างไป เริ่มเล่นน้ำลึกไป เริ่มเข้าใกล้เชือกกั้น หรือแม้แต่เมื่อ Emily เล่นทราย เล่นเปลือกหอย แม่ของเธอก็จะตะโกนดุ ดูเหมือนว่า ไม่ว่าเธอจะทำอะไร ก็ผิดตลอด

ผลปรากฏว่า ระหว่างที่เล่นน้ำ Alexis จะคอยมองผู้ดูแลความปลอดภัย (Lifeguard) เพื่อให้แน่ใจว่าเธอเองเล่นอยู่ตรงหน้าผู้ดูแลความปลอดภัย (Lifeguard) และ จะคอยมองเชือกกั้นว่าไม่ได้เข้าไปใกล้ นอกจากนั้น ก็ยังเอามือขึ้นมาคอยวัดเช็คระดับน้ำไม่ให้ลึกเกินระดับหน้าอกด้วย ในขณะที่ Emily นั้นจะคอยมองแต่แม่ของเธอ เพื่อให้แน่ใจว่า เธอไม่ได้ทำอะไรผิด

สิ่งที่สังเกตพบจากเรื่องเล่านี้ คือ Alexis รู้ตัวอยู่เสมอว่าเล่นน้ำตรงไหน เล่นน้ำได้อย่างสบายอกสบายใจ และ ไม่ได้รับความกังวลใจจากภายนอก ส่วน Emily นั้นไม่ได้สนุกกับการเล่นน้ำอย่างที่เธอ และแม่ของเธอตั้งใจ เกิดความพะวงและกลัวที่จะถูกตัดสิน

นี่เป็นเรื่องเล่าที่หน้าสนใจ และเป็นอารัมภบทสู่เรื่อง “Facilitative Leader” ได้เป็นอย่างดี ในฐานะหัวหน้างาน หากเราพัฒนาทีมงานของเราด้วยการควบคุม บอกสอนตลอดเวลา ผลก็จะปรากฏไม่ต่างจากเรื่องเล่านี้ ทีมงานของเรา จะคอยมองหาเรา และ ไม่กล้าตัดสินใจใด ๆ เลย

หากเราสนใจพัฒนาทีมงาน เพื่อให้กลายเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ (Responsibility) กล้าตัดสินใจ ยุทธศาสตร์ที่ถอดได้จากเรื่องเล่านี้ก็คือ “สอนให้ฝึก ฝึกไม่สอน” หมายความว่า บอกสอนเท่าที่จำเป็น และ ให้พื้นที่ในการฝึกฝน ให้ทีมงานของเราได้เรียนรู้ด้วยตนเอง

สรุปว่า “สอนให้ฝึก” ก็คือ บอกสิ่งที่จำเป็น สนับสนุนให้ฝึกฝน สร้างทางเลือก เผชิญความจริง “ฝึกไม่สอน” ก็คือ ฝึกไม่ควบคุม ไม่จับผิด ไม่บอกสอนตลอดเวลา มองเห็นว่าการเรียนรู้ คือ ความคืบหน้าในระหว่างทาง

Inspired by :

  • Chen, Z., Zhou, G., and Wang, S. (2017). Facilitative Leadership and China’s New Role in the World. doi 10.1007/s41111-017-0077-8.
  • Reilly, S. (2017), The Facilitative Leader: Managing Performance Without Controlling People. NY: Business Expert Press, LLC.
เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments