โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model (New EDM) เป็นแนวคิดหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารใหม่ ด้วยการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งการทำงานระดับบุคคลและระดับสังคม ทำให้เกิดคุณภาพด้านในจิตใจ ด้านทักษะความสามารถ และ ด้านสังคม สามารถแสดงท่าที จุดยืน และ ตอบสนองได้ตามบทบาทอย่างเหมาะสม เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาตนเองให้สามารถบริหารจัดการตนเอง และ ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารใหม่ ที่สามารถบริหารจัดการงานต่างๆ ให้กับองค์กรได้
โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model (New EDM) เกิดจากการตกผลึกจากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่ได้มีโอกาสจัดโปรแกรมพัฒนาด้านภาวะผู้นำให้กับผู้บริหารขององค์กร (Leadership Development Program, LDP) ผสมผสานเข้ากับองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น เรื่อง Four Stages of Competence หรือ The Conscious Competence Learning Model ที่แบ่งขั้นตอนการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ของมนุษย์ออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่
- ไม่รู้ว่าทำไม่ได้ Unconscious Incompetence (Wrong Intuition)
- รู้ว่าทำไม่ได้ Conscious Incompetence (Wrong Analysis)
- รู้ว่าทำได้ Conscious Competence (Right Analysis) และ
- ไม่รู้ว่าทำได้ Unconscious Competence (Right Intuition)
เพื่อให้กระบวนการฝึกฝนพัฒนาทักษะเกิดความทันสมัย ตามกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ ได้แก่ Facilitating, Coaching, Deep Listening รวมถึงการเรียนรู้ผ่าน Role Model และ การอยู่ในบริบท (Context) ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือ เกิดทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นคงถาวร จึงขอนำเสนอเป็น Model ใหม่ ที่มีชื่อว่า “โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “New EDM” เพื่อให้เป็นทางเลือก ในการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับ เรื่อง 9 แก่นสารสำคัญ สำหรับผู้บริหารใหม่ : The 9 Essences for New Executive โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ช่วง ดังต่อไปนี้
Awareness (Being) :
การตระหนักรู้ มีความสำคัญมาก เพราะเราได้ทราบความจริงว่า ยังมีสิ่งที่เรา “ไม่รู้..ว่าไม่รู้” อีกมากเลย โดยเฉพาะเมื่อสิ่งนั้น คือ เรื่องภายในตัวตนของเราเอง ที่ไม่สามารถถูกบอกสอนตรง ๆ ได้ จึงจำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Facilitating คือ การฝึกรู้สึกตัวมากขึ้นในสิ่งที่เคยคุ้น และ ฝึกทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยบ้าง เพื่อคอยสังเกตพฤติกรรมของตนเอง พร้อมทั้งการให้ความสำคัญกับการฟังในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ และ ความสามารถในการยอมรับ คือ สิ่งที่สำคัญมากในขั้นนี้
Johari Windows เป็นเครื่องมือหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ช่วยแบ่งการรับรู้ของมนุษย์ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- Open Area (Free Area) เป็นพื้นที่ที่ทั้งตัวเราเอง และ คนรอบตัวของเราต่างรู้เกี่ยวกับเรา
- Blind Area เป็นพื้นที่ที่เราไม่รู้ในตัวเอง แต่คนอื่นมองเห็นว่าเราเป็นอย่างนั้น
- Hidden Area เป็นพื้นที่ที่เรารู้เกี่ยวกับตัวเอง แต่คนอื่นไม่รับรู้ในสิ่งที่เราเป็น
- Unknown Area เป็นพื้นที่แห่งความไม่รู้ ที่ทั้งเราและคนอื่นไม่รู้ เกี่ยวกับเรา
การขยายพื้นที่ Open Area ให้เปิดกว้างออก สามารถทำได้โดยการเปิดรับคำแนะนำ (Feedback) และ การเปิดตัวให้คนอื่นได้รับรู้เกี่ยวกับเรามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถทำได้โดยการคอยสังเกตตัวเองและผู้อื่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หรือในสถานการณ์ที่คับขัน ประกอบกับความสามารถในใคร่ครวญ (Contemplating) ไม่พุ่งเป้าออกไปตัดสินสิ่งอื่น ๆ รอบตัว เพื่อย้อนกลับมาสังเกตที่ตัวเราเอง จนเกิดการยอมรับในข้อจำกัดของเราเอง ซึ่งนั่นก็จะคือประตูสู่การขยายพื้นที่ Open Area ต่อไป
Aspiration (Having) :
มันเป็นเรื่องที่โชคดีมาก ถ้าภายหลังการตระหนักรู้ว่าต้องพัฒนาตนเองในด้านไหน แล้วเราพร้อมลงมือพัฒนาตนเองในทันที แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนด้วย Aspiration คือ ฉันทะ ความปรารถนา หรือ ความอยากที่จะเปลี่ยน ในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ถนัด เราจำเป็นต้องปรึกษาผู้รู้ มีพี่เลี้ยงสอนงาน (Mentor) มีที่ปรึกษาส่วนบุคคล (Personal Consultant) และ ที่สำคัญก็คือ การมีบุคคลต้นแบบ (Role Model) ที่ทำให้เราสามารถเปิดใจ ให้ความเคารพ ศรัทธา ข่าวดีก็คือว่ามนุษย์มี เซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neuron) ที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ แม้เพียงแค่มองเห็นพฤติกรรม
Action (Doing) :
การลงมือทำที่ต่อเนื่อง แม้ไม่สมบูรณ์ตามที่ตั้งใจในทันที แต่ก็สามารถสามารถทำได้ต่อไป มีทัศนคติแห่งการขอบคุณสิ่งเล็ก ๆ (Gratitude) และ มองเห็นความเป็นไปได้อยู่เสมอ (Positive Outlook) เราจึงจำเป็นต้องมีโค้ช (Coach) ซึ่งจะช่วยให้เราฉุกคิด และ เกิดความคิดที่เป็นระบบ สามารถค้นพบวิธีการที่หลากหลาย และ เกิดการลงมือทำ หรือ การฝึกฝนซ้ำ ๆ จนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ
Accomplishment (Being) :
เมื่อสำเร็จแล้ว เรายังคงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำซ้ำ ๆ ได้กลายเป็นนิสัย กลายเป็นพฤติกรรมใหม่ของเราอย่างถาวรแล้วหรือยัง การหมั่นทบทวนโดยไม่ประมาท ยังคงมีความจำเป็นต่อไป สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงถาวรในผลแห่งการเปลี่ยนแปลง คือ 3Cs ประกอบด้วย การอยู่ร่วมในบริบทที่เหมาะสม (Context) การมีกัลยาณมิตรคอยเกื้อหนุนในทิศทางที่ใช่ การมีชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) หมั่นทบทวนและคอยให้กำลังใจกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเฉลิมฉลองให้รางวัลกับชีวิตก็ควรจะต้องมีเช่นกัน (Celebration) เพื่อซึมซับความสุข ความพอใจเมื่อเกิดความสำเร็จเล็ก ๆ ขึ้นกับชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง
ต่อยอดความสำเร็จเป็นความสุข
ต่อยอดความสุขให้เป็นความสำเร็จ
ผู้เขียนได้นำโมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model (New EDM) มาใช้กับตัวเองอยู่เสมอ และ เกิดผลที่ดีกับการพัฒนาชีวิตอย่างชัดเจน ทำให้สามารถประเมินสถานะการพัฒนาของตนเอง และ เลือกใช้วิธีการได้อย่างเหมาะสม ได้แก่ การเข้าร่วมการฝึกฝนตนเองผ่านกระบวนการเรียนรู้กับกระบวนกรจิตตปัญญา (Contemplative Facilitator), การเข้ารับการโค้ชกับโค้ช (Coach) การเรียนรู้กับพี่เลี้ยง (Mentor) การฝึกทำตามบุคคลต้นแบบ (Role Model) รวมถึงการดำรงอยู่ในบริบทที่เหมาะสม (Context) จึงขอนำเสนอ โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model (New EDM) ให้กับผู้ที่สนใจพัฒนาตนเองให้สามารถบริหารจัดการตนเอง และ ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารใหม่ ที่สามารถบริหารจัดการงานต่างๆ ให้กับองค์กรได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ทาง Line ID = @delighten