Facilitative Leadership คือ ภาวะผู้นำที่เกิดจากการประยุกต์ทักษะการนำกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน สู่ทักษะการบริหารจัดการ เพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างการทำงานร่วมกันในองค์กร ผ่าน PURE Management Model
R : Recognize เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการใน PURE Management Model การให้การยอมรับ ชื่นชมกัน จะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนรู้สึกมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รู้สึกมีตัวตน แต่ไม่ปกป้องตัวตน พูดคุยแบบให้ทุกฝ่ายมีที่ยืน ไม่ตัดสินถูกผิดอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ในบรรยากาศสร้างสรรค์ กล้าตัดสินใจ กล้าริเริ่ม เหนี่ยวนำให้เกิดการขยายกรอบความเชื่อ ก้าวเข้าสู่พื้นที่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
เมื่อเรายอมรับชื่นชมกัน (Recognize) ได้ถี่บ่อยกว่าการให้ข้อเสนอแนะ (Feedback) การให้ข้อเสนอแนะก็จะมีคุณภาพ คำพูดของเราจะน่ารับฟัง น่านำไปปฏิบัติ อุปมากล่องของขวัญใบเล็ก ได้วางอยู่บนฐานที่มั่นคง ฐานนั้นต้องกว้างกว่ากล่องของขวัญ กล่องของขวัญ ก็คือ การให้ข้อเสนอแนะ (Feedback) ส่วนฐานนั้น คือ ยอมรับชื่นชมกัน (Recognize)
โดยปกติมนุษย์มีธรรมชาติที่จะสนใจในเรื่องเชิงลบ ตามสัญชาตญาณการอยู่รอด เราเรียกอคติเช่นนี้ ว่า “Negativity Bias” จึงทำให้เกิดการจดจำและบอกต่อเรื่องราวเชิงลบมากว่าเรื่องดี ๆ หากในรายงานผลสอบแม้เราจะได้เกรด A เกือบทุกวิชา แต่เราก็มักจะเห็นเกรดแย่ ๆ ในบางวิชาอย่างชัดเจน เช่นเดียวกัน ทีมงานของเราก็จะจดจำถ้อยคำการเสนอแนะให้ปรับปรุงจากเรา มากกว่าสิ่งที่เราชมเชยเขาไป ลองคิดดูว่าในหัวของเรามีสัดส่วนของเรื่องลบ ๆ ต่อเรื่องราวดี ๆ โผล่เข้ามาในความคิดเท่าไหร่ สมมติว่าเป็น 3:1 หมายถึง เรื่องปัญหาที่ชวนปวดหัว 3 ส่วน เรื่องราวดี ๆ ที่ทำให้สบายใจอีก 1 ส่วน ถ้าเป็นแบบนี้ เราก็ควรชื่นชมทีมงานให้ได้ 3 เรื่อง จึงจะเสนอแนะให้เขาปรับปรุงการทำงาน 1 เรื่อง แบบนี้จึงจะเรียกว่าแฟร์ แต่ถ้าจะให้ดีเราก็ควรจชื่นชมเขาให้มากกว่านั้น และไม่ลืมที่จะยอมรับชื่นชมตัวเองให้ได้มากขึ้นเช่นกัน
ในขณะที่ การชมเชยเด็ก ๆ ให้ลดการชมเชยกันว่าสวย ว่าเก่ง เพราะหากวันหนึ่งเขาเกิดไม่สวย ไม่เก่ง เขาจะยังเป็นคนที่อารมณ์ดีได้ เราสามารถเลือกชมไปที่ความคิด การกระทำ คือ ชมไปที่เหตุที่ทำให้ได้ผลมา เช่น เป็นคนขยัน เอาใจใส่ ดูแลรักษาสุขภาพ เป็นคนมีสมาธิ มุ่งมั่นทำต่อเนื่อง มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
อีกขั้นตอนสำคัญ คือ การถามและฟัง ถามความรู้สึกของเขา เพื่อเชื่อมใจเราและเขาให้เข้าใจกันจริง ๆ เช่น การถามว่า เขารู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ เขาให้ความหมายกับมันอย่างไร จากนั้นเราจะใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เพื่อให้เขาได้พูด
ความสัมพันธ์อันดี ไม่ได้เกิดจากการพยายามเรียกร้องการยอมรับจากคนอื่น แต่คือความสามารถในการยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น สามารถยอมรับชื่นชมในคุณค่าของเขาได้ ที่แม้แต่กระทั่งตัวเขาเอง ยังละเลยที่จะชื่นชมตัวเองในจุดนั้นไป การยอมรับด้วยใจนั้นอยู่เหนือเหตุผล เราสามารถยอมรับในคนอื่นได้ง่าย เมื่อเขาทำได้ตรงกับใจของเรา แต่การยอมรับคนอื่นในเวลาที่เขาไม่สามารถทำได้ตรงกับใจของเรา นั่นคือเวลาที่เราจะสามารถแสดงออก ถึงการยอมรับด้วยใจอย่างแท้จริง แนวถึงหนึ่งที่ผู้เขียนใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างดี คือ การถามตัวเองว่า เรากำลังมองทุกสิ่งแบบขาวกับดำ หรือมองเห็นสีเทาในนั้น คำถามนี้ช่วยสร้างการตระหนักรู้ ให้เราถอยมาจากมุมมองแบบแบ่งแยก ชั่วดีออกจากกันอยากเด็ดขาด ซึ่งมักเป็นสาเหตุให้เราไม่สามารถเปิดใจยอมรับในสิ่งนั้นได้
การยอมรับชื่นชมถึงคุณค่า เกิดจากการมองให้ลึกซึ้ง (Look Deeply) ให้เห็นถึงคุณค่าภายในจิตใจ เห็นผลลัพธ์จากภายนอก และชื่นชมถึงคุณค่าที่ขับเคลื่อนอยู่ภายใต้สิ่งที่ปรากฏเห็นเหล่านั้นด้วย อุปมาเหมือนกับมองต้นไม้ เรามองเห็นใบ กิ่งก้าน และลำต้นของมันได้ พร้อมๆ กับการมองเห็นรากของมันด้วย ฯลฯ เมื่อเราเห็นผลลัพธ์ เราก็เห็นถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดผลลัพธ์นั้นด้วย เหตุปัจจัย ได้แก่ วิธีการทำงาน วิธีคิด รวมถึงเหตุผลในจิตใจที่ขับเคลื่อน ทั้งวิธีคิด และวิธีการทำงานเช่นนั้นด้วย (การมองอย่างลึกซึ้ง สามารถศึกษาฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมได้ จากเรื่องการดื่มน้ำชา โดย หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ และ สังฆะหมู่บ้านพลัม)
ข้อควรตระหนัก คือ การแสดงความเข้าใจ ถึงคุณค่าลึก ๆ ภายในจิตใจผู้อื่น จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตเช่นกัน การอนุญาตในที่นี้หมายถึง เขาเปิดใจให้เราสามารถเข้าใจเขาได้แค่ไหน การพยายามทำความเข้าใจคนอื่นเร็วเกินไป อาจกลายเป็นการคุกคามได้เช่นเดียวกัน ในบางประสบการณ์ที่เกินความเข้าใจของเรา เราเพียงเปิดใจรับฟัง โดยไม่ต้องรีบร้อนแสดงความเข้าใจทั้งหมดก็ได้ สิ่งที่เราควรทำ คือ การดำรงอยู่ตรงนั้นกับเขาให้ได้ ให้เขารู้ว่าเรากำลังฟังเขาอยู่
การขยายใจของเราให้เกิดการยอมรับ สำคัญกว่าคำพูดที่เปิดเผยออกมา หากพูดออกมาว่ายอมรับ แต่ขาดการยอมรับจากภายในจิตใจ นั่นก็เปล่าประโยชน์ การยอมรับชื่นชม (Recognize) ในที่นี้ จึงหมายถึง การขยายใจของเราเอง
สรุปสิ่งสำคัญอีกครั้งก็คือ เราไม่ได้กำลังจะสร้างวัฒนธรรมแห่งการแสวงหาการยอมรับหรือคำชื่นชม แต่เรากำลังสร้างวัฒนธรรมแห่งการขยายใจของเราเอง เพื่อให้เกิดการยอมรับ ชื่นชม คุณค่าในคนทุกคน
.
บทความ เรื่อง Facilitative Leadership
through PURE Management Model โดย รัน ธีรัญญ์
- P : Patronize ภาวะผู้นำกระบวนการ ตอน Patronize
- U : Update ภาวะผู้นำกระบวนการ ตอน Update
- R : Recognize ภาวะผู้นำกระบวนการ ตอน Recognize
- E : Establish ภาวะผู้นำกระบวนการ ตอน Establish
- ชมวีดีโอใน YouTube : Leadership for New Leader