การทำงานร่วมกัน 3 ระดับ : The Three Levels of Collaboration

การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน (Common Goal) จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันในทีมตามหน้าที่ (Functional Teams) การทำงานร่วมกันในโครงการที่มีกำหนดเวลา (Time-limited Project Teams) หรือ การทำงานร่วมกันข้ามสายงาน (Cross-functional Management Teams) เมื่อการทำงานร่วมกันเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของงาน และ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมด้วย

งานเขียนนี้ จะนำเสนอแนวคิดของการทำงานร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายตามบริบทของการทำงานร่วมกัน พร้อมกันนี้จะได้ให้แนวทางการสื่อสารที่เหมาะสมกับการทำงานร่วมกันใน 3 ระดับ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. Independent Collaboration

มีเป้าหมายเหมือนกัน มีความตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมาย พ้นจากสภาวะการเกี่ยงงาน ต่างคนต่างทำอย่างอิสระ ทุกคนทำงานครบทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ สื่อสารกันน้อย ผลรวมของทีม เกิดจากการรวมผลลัพธ์ของแต่ละคน ตัวอย่างเช่น Dealers จำหน่ายสินค้ายี่ห้อหนึ่ง ต่างคนต่างขาย และเมื่อนำยอดขายของทุก Dealers มารวมกัน ก็กลายเป็นยอดขายรวมของสินค้ายี่ห้อนั้น 

อาศัยทักษะการฟังในระดับ I-in-it คือ การฟังแบบจับประเด็นได้ เพื่อให้ทราบรายละเอียดงานของตนเอง และ รับผิดชอบในผลของงาน 

2. Dependent Collaboration 

มีเป้าหมายร่วมกัน แบ่งงานกัน ส่งต่องานกันเป็นช่วงๆ อาจทำงานกันคนละที่ คนละสาขา คนละเวลา คนละกะ แต่งานของแต่ละคนมีผลต่อกัน จึงจำเป็นต้องสื่อสารกัน เป็นการทำงานร่วมกันในแผนก ข้ามแผนก หรือ ในแต่ละโปรเจค โดยกระจายงานให้แต่ละคนได้ทำงานที่ถนัด มักมีผู้นำทีม สร้างให้เกิด Teamwork

อาศัยทักษะการฟังในระดับ I-in-you คือ การฟังแบบจับประเด็นได้ พร้อมทั้งเข้าถึงความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานด้วย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็น Teamwork ที่รู้ใจกัน

3. Interdependent Collaboration 

มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน คิดร่วมกัน เชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม พึ่งพาอาศัยกัน ทำไปพร้อมๆกัน หรือสลับบทบาทได้ สื่อสารกันมาก เปิดพื้นที่ให้มีการลองทำ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ออกแรงพร้อมกัน 1+1 ได้ผลลัพธ์มากกว่า 2 (Synergy) เกิดระบบใหม่ นำมาใช้ซ้ำ พัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ 

อาศัยทักษะการฟังในระดับ I-in-now คือ การฟังอย่างมีสมาธิ หลอมรวมเป็นหนึ่ง เหมือนเป็นคนคนเดียวกัน จับประเด็นได้ เข้าถึงความรู้สึก แต่ไม่อิน เป็นผู้สังเกตออกจากกรอบความคิดแห่งตัวตน จึงเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเกื้อหนุนกันแบบองค์รวม

อย่างไรก็ตาม การทำงานทั้ง 3 ระดับนั้น มีประโยชน์ทั้งหมด ขึ้นอยู่บริบทหน้างาน ว่าเหมาะสมจะทำงานร่วมกันในแบบไหน การทำงานร่วมกันในระดับต้น ไม่ต้องอาศัยทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกันมากนัก จึงเริ่มงานได้ทันที ส่วนการทำงานร่วมกันในระดับที่สูงขึ้น จำเป็นต้องอาศัยทักษะการสื่อสาร และ การทำงานร่วมกันมากขึ้น จึงจำเป็นต้องให้พื้นฐานกับสมาชิกทุกคน โดยเฉพาะเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ทัศนคติเชิงบวก (Positive Outlook) การสื่อสาร (Communication) ทีมเวิร์ค (Teamwork) และ การทำงานร่วมกัน (Collaboration)

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments