-
รดน้ำดอกไม้ – Watering flowerเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกัน การสื่อสารจะเสมือนถูกตัดขาด ความคิดจะเต็มไปด้วยภาพลบ ไม่สามารถมองเห็นคุณค่าของกันและกันได้เลย เปรียบเสมือนกับจุดดำเล็กๆ ที่แต้มอยู่บนกระดาษสีขาว เรามักจะเพ่งมองไปที่จุดดำเล็กๆ เท่านั้น โดยลืมมองเห็นพื้นที่สีขาวมากมาย ที่อยู่บนกระดาษแผ่นเดียวกัน ในสถานการณ์ที่เราโกรธอยู่ เราจึงไม่อาจรับรู้ได้อย่างถูกต้อง
พลังแห่งสติ จะช่วยปรับจิตใจของเราจากลบเป็นบวก เปรียบดั่ง รีโมททีวี ใช้ปรับเปลี่ยนช่องทีวีให้ตรง เปรียบดั่ง การช่วยให้ดอกบัวผุดขึ้นจากโคลนตม เราอาจลองนั่งในท่าทางที่สบาย แล้วหายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ ลองสังเกต ฟังเสียงลมหายใจเข้า และ ลมหายใจออก เราจะพบว่า ลมหายใจเข้านั้น ก็เป็นลมหายใจใหม่ ลมหายใจออกนั้น ก็เป็นลมหายใจใหม่ เช่นเดียวกัน เซลล์ต่างๆ ในร่างกายของเรา ก็กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ เรามีร่างกายใหม่อยู่ทุกขณะ เราจึงสามารถเป็นคนใหม่ได้ทุกขณะเช่นกัน อดีตที่ถูกเล่นซ้ำทำร้ายเรา ก็เพราะเราไปจมอยู่กับความคิดเท่านั้นเอง
เรารู้ดีว่าความสุขทำให้เกิดรอยยิ้ม และ ความจริงรอยยิ้มก็ทำให้เกิดความสุขเช่นกัน เราอาจเริ่มต้นมอบรอยยิ้มให้กับตัวเอง เพื่อนำความสุข ความสงบกลับคืนสู่ร่างกาย และ จิตใจ มองเห็นคุณค่าภายในตัวเราก่อน รดน้ำเมล็ดพันธุ์ที่เป็นบวกภายในตัวเราก่อน แล้วจึงสามารถสัมผัสถึงคุณค่าของผู้อื่น สามารถรดน้ำเมล็ดพันธุ์ที่เป็นบวกภายในตัวผู้อื่นได้อย่างแท้จริง การสะท้อนด้านบวกของเราเชื่อมต่อสู่ด้านบวกของผู้อื่น นี่คือ การกระตุ้นความสัมพันธ์ที่ดี
สรุปขั้นนี้ คือ การทำให้กายสงบ ใจสงบ มีสติ ปลูกความรักในใจเรา
-
ขอโทษ ยอมรับ ชื่นชม – Expressing our regretsเมื่อเราสงบเพียงพอ เราจะมองเห็นถึงความไม่ฉลาดเฉลียว ในความคิด คำพูด หรือ การกระทำที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อเราพบความไม่ฉลาดเฉลียวเหล่านั้น เราอาจกล่าวขอโทษในใจ กับตัวเอง และ กล่าวขอโทษในใจต่อผู้คนที่เรารู้สึกผิดด้วย ให้เรียนรู้จากความไม่ฉลาดเฉลียวนี้ให้มาก การยอมรับ และ ตระหนักรู้ถึงความไม่สมบูรณ์แบบว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะช่วยให้เราเปิดใจพร้อมสำหรับการสื่อสาร
พระพุทธเจ้า ได้สอนให้เราเห็นคุณค่าของการระลึกรู้ถึง ความไม่แน่นอน (อนิจจตา) ไว้ว่า
“ผู้ได้ฌาณ นาน 100 ปี ผลบุญยังน้อยกว่า ผู้เห็นไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจตา, ทุกขตา, อนัตตตา แม้เพียงขณะจิต” * จากคำสอนนี้ทำให้เราพบว่า การระลึกถึงความไม่แน่นอน หรือ การแปรเปลี่ยนได้อยู่ทุกขณะนั้น มีความสำคัญมาก เพราะหมายถึง การระลึกรู้ถึงโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ได้อยู่ทุกขณะ โดยไม่ต้องรอจนถึงปีหน้า เดือนหน้า หรือ วันพรุ่ง ไม่ต้องรอคอยจนกว่าจะมีเวลาว่าง แต่เราสามารถเลือกคิด เลือกพูด ในสิ่งที่เป็นบวกได้ในทันที เช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งที่แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ เมื่อเราเปิดใจตัวเองได้แล้ว ก็จะสามารถเปิดใจผู้อื่นได้ เราอาจส่งข้อความสั้นๆ ไปทักทายผู้อื่น หรือ มอบของขวัญที่ถูกใจผู้รับก็ได้ นั่นแสดงถึงจิตใจของเราได้เปิดพร้อมสำหรับการสื่อสารด้วยสันติกับทุกคนแล้วสรุปขั้นนี้ คือ ให้อภัยตัวเอง ให้อภัยผู้อื่น เปิดใจกว้าง พร้อมสำหรับการสื่อสาร -
ร้องขอ บอกความต้องการ – Expressing our hurt
พูดด้วยวาจาแห่งรัก พูดด้วยเจตจำนงแห่งสันติ เพื่อคลี่คลายความรู้สึกของเราเอง กับผู้ที่เราต้องการคืนดี หรือ จะพูดให้กับกัลยาณมิตรสักคนฟังก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องพูดเพื่อยืนยันความถูกต้อง หรือ ต้องการให้อีกฝ่ายมาขอโทษเรา เราอาจพูดเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยที่ไม่ต้องคาดหวังผล บ่อยครั้ง เมื่อได้พูดสิ่งที่คาใจออกมาแล้ว เราจะพบว่า สาเหตุแห่งทุกข์นั้น แก้ได้ที่ตัวเรานี่เอง
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการพูดไว้ในวาจาสูตร มี 5 ประการ คือ
1. เป็นคำพูด ที่กล่าวถูกจังหวะ
2. เป็นคำพูด ที่เป็นจริง
3. เป็นคำพูด ที่อ่อนหวาน
4. เป็นคำพูด ที่เป็นประโยชน์กับผู้ฟัง
5. เป็นคำพูด ที่กล่าวด้วยเมตตาจิต **สรุปขั้นนี้ คือ การพูดออกมาด้วยความรัก เริ่มต้นสื่อสาร คลี่คลายความทุกข์ -
ฟังอย่างลึกซึ้ง ด้วยความกรุณา – Deep listening, Compassionate listening
ฟังเพื่อคลี่คลายความทุกข์ให้กับผู้พูด ไม่ด่วนตัดสิน หรือ แทรกขัดจังหวะ เราอาจทะยอยพูดในสิ่งที่เรารู้สึก โดยพูดทีละเล็ก ทีละน้อย สลับกับการฟังให้มากกว่า เราอาจร้องขอให้เกิดการร่วมมือกัน หาทางออกที่จะปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนบุคคลอื่นได้ เราอาจเคยชินกับการสนทนาที่จะต้องพูดโน้มน้าว เพื่อให้ทุกคนยอมรับในความคิดเห็นของเรา แต่การฟังอย่างลึกซึ้งนั้น เราเพียงแค่ฟังให้ได้จริงๆ รวมไปถึงการใส่ใจ ฟังเสียงภายในของผู้พูด และ เสียงภายในของตัวเราเอง ซึ่งจะทำให้เราเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ได้รู้จักตัวเอง ได้ตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมของเราเอง สิ่งที่เป็นบวกในตัวเรา สิ่งที่เป็นลบในตัวเรา
“ขณะฟัง ไม่ตัดสิน ไม่แทรกขัดก่อนเริ่มพูด หายใจชัด มีสติขณะพูด มีเมตตา กลั่นวจีพูดไปแล้ว ร่วมยินดี ที่ปัจจุบัน”— รัน ธีรัญญ์ —
การฟังอย่างลึกซึ้ง จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเหลือเชื่อ การฟังได้นาน โดยไม่รีบร้อนพูด คือ การฝึกดำรงอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราเป็นอิสระจากการอยากพูดในทันทีทันใด เมื่อเราไม่ถูกลากไปกับความคิดเดิมๆ เราจะสามารถสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงสรุปขั้นนี้ คือ การฟังเพื่อให้เข้าถึงใจผู้พูด และ ตัวเอง
หากลองสังเกตคนเจ็บปวดใกล้ตาย จะพบว่าไม่มีใครเลยที่บอกว่า อยากจะมีลาภยศ สรรเสริญมากขึ้น ทุกคนล้วนพูดถึงอดีตของตัวเอง ที่อยากจะแก้ไข อยากจะใกล้ชิดกับบุคคลอันเป็นที่รัก ให้มากกว่าที่เป็นมา อยากจะขอโทษ อยากจะแก้ไขบางสิ่งบางอย่าง ในทางจิตวิทยา เราเรียกสิ่งนี้ว่า “ธุรกิจที่ยังไม่เสร็จ” (Unfinished Business) และสิ่งนี้นี่เองคือ ธุรกิจที่แท้จริง (The Real Business) ธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ด้วย การเริ่มต้นใหม่ (Beginning Anew) เพื่อให้ชีวิตโล่งโปร่งเบาสบายในปัจจุบัน นี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ถึง คุณภาพชีวิตอันแท้จริง
- Thich Nhat Hanh, Applied Ethics Retreat : Compassionate Listening, 4-8 April 2013
- Br.Phap Niem, Happy Teacher Change The World : Beginning Anew, 31 July 2015
- Sr.Dang Nghiem, The Art of Power Retreat : Beginning Anew, 20 October 2010
- Family Retreat, Purify our action, protect mother earth, 13-17 April 2016