เมื่อเกิดความคิดว่า ‘อยากเปลี่ยนคนอื่น’ นั่นคือ สัญญาณให้เรา ‘ทบทวนตนเอง’ บ่อยครั้ง การอยากเปลี่ยนคนอื่น นั่นอาจเพราะ ความอดทนของเราต่ำลง ให้เวลากับตัวเองสักนิดเพื่อทบทวนเจตนาของตนเอง ในฐานะหัวหน้างาน ถ้าเจตนาของเรามีความชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์กับองค์กร จึงควรตัดสินใจโน้มน้าวใจทีมงาน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมต่อไป
โดยธรรมชาติมนุษย์มีความสุขกับการได้เลือก เช่น ได้เลือกซื้อขนมในแบบที่ชอบ ได้เลือกสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยตนเอง เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อถูกออกคำสั่งหนัก ๆ จะรู้สึกเหมือนถูกควบคุม ทำให้ออกอาการต่อต้าน ฝ่าฝืน หรือหันเหไปทำด้านตรงข้าม เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรจะโน้มน้าวใจทีมงานอย่างไรดี
บทความนี้ ขอนำเสนอเทคนิคจาก Harvard Business Review ประกอบด้วย 3 เทคนิค ดังต่อไปนี้ครับ
1. ใช้เจตนาของเขาเอง
เทคนิคข้อนี้ คือ การชี้จุดต่างระหว่างสิ่งที่เขาพูดกับสิ่งที่เขาทำ หรือจุดต่างระหว่างสิ่งที่เขาอยากให้คนอื่นทำ กับสิ่งที่เขาทำเองจริง ๆ เช่น หัวหน้างานบอกกับทีมงานว่า “ขอให้ทุกคนร่วมมือกัน สวม Mask เพื่อป้องกันไม่ให้ COVID19 ส่งผลกระทบต่องานขององค์กรของเรา” ผู้บริหารก็สามารถกระตุ้นให้หัวหน้างานผู้นี้ ให้ความร่วมมือสวม Mask ตามสิ่งที่เขาสอนทีมงานด้วยเหตุผลเดียวกัน
ครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสร่วมวงสนทนา ที่สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติหมู่บ้านพลัม อ.ปากช่อง มีผู้ร่วมวงสนทนาท่านหนึ่ง ซึ่งมีความตั้งใจในการฝึกปฏิบัติเป็นอย่างมาก ได้พูดขึ้นมาในวงสนทนาว่า “ฉันสามารถปฏิบัติตามข้อฝึกอบรมสติได้เกือบทุกข้อ ยกเว้นเพียงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังจำเป็นต้องดื่ม และฉันจะขอดื่มต่อไป” เมื่อจบการแบ่งปันในวงสนทนา พระธรรมาจารย์กล่าวว่า “ข้อฝึกอบรมสติ เป็นเพียงแนวทางไม่ใช่ข้อห้าม เพียงแต่สิ่งที่เราทำ ลูกของเราก็จะเห็น และมีแนวโน้มสูงว่า วันหนึ่งเขาก็จะทำตามอย่างที่เราทำ” คำกล่าวนี้ ทำให้สมาชิกในวงสนทนาเกิดการตระหนักรู้ คิดทบทวน และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อเลือกทำในแบบที่อยากให้ลูกของเขาทำตาม
2. ใช้คำถามแทนการบอก
แทนที่จะบอกว่า “อาหาร Junk Food ทำให้อ้วน” เราสามารถใช้การถามว่า “คุณคิดว่า Junk Food ส่งผลต่อสุขภาพคุณอย่างไร” หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง แทนที่จะบอกว่า “จงป้องกันตัว อย่าติดเชื้อ COVID19 เด็ดขาด” เราสามารถใช้การถามว่า “ถ้ามีผู้สูงอายุในบ้านคุณ ติด COVID19 จากคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร” คำตอบที่ก้องดังขึ้นในใจของเขา กำลังสะท้อนความคิด ความเชื่อของเขา ที่จะขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ได้มากกว่าเราไปบอกให้เขาทำตามกฎระเบียบ หรือทำตามความปรารถนาดีของเรา
3. ใช้การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ
การต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คุ้นชินและพึงพอใจอยู่อย่างกระทันหัน จะทำให้เกิดการต่อต้านขึ้นแทนที่ ความเข้าใจนี้ ทำให้นักบำบัด แนะนำให้ผู้ติดน้ำอัดลม ค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มลงทีละนิด แทนการบอกให้เลิกดื่มโดยทันที ผลจากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ คือ ผู้บำบัดจะน้ำหนักลดลงและกลายเป็นกำลังใจมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดการหยุดดื่มได้ในที่สุด นอกจากใช้เทคนิคนี้กับการเลิกพฤติกรรมที่คุ้นชินแล้ว ยังสามารถใช้กับการเริ่มต้นพฤติกรรมใหม่ ๆ ได้อีกด้วย เช่น ก่อนที่ผมจะกลับมาออกกำลังกาย หลังจากเลิกออกกำลังกายไปนานหลายเดือน ผมจะเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายแบบง่าย ๆ ด้วยการเดินเล่นในหมู่บ้าน พฤติกรรมใหม่ง่าย ๆ ช่วยให้สมองเปิดรับได้ง่ายไม่ต่อต้าน เมื่อเกิดความสำเร็จเล็ก ๆ ในการบริหารเวลา จะทำให้มีกำลังใจในการออกกำลังกายมากขึ้น ๆ ตามลำดับ
ทั้ง 3 เทคนิคนี้ อาจเรียกรวมกันว่า ‘การโน้มน้าวใจ โดยให้เขาเกิดการโน้มน้าวใจตนเอง’ ได้แก่ หนึ่ง ใช้เจตนาของเขาเอง, สอง ใช้การถามแทนการบอก และ สาม ใช้การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ ๆ และสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ เจตนาของเราเอง ต้องแน่ใจว่า การโน้มน้าวใจนี้ ไม่ใช่เหตุผลส่วนตัวของเรา แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเขาและสังคมรอบตัวเขาเอง
Inspired by Jonah Berger. (2020, April). How to Persuade People to Change Their Behavior. Harvard Business Review.