ในวิถีชีวิตที่เร่งรีบ เราได้แยกการฝึกฝนสติ (mindfulness practice) ออกจากเวลางาน เรามุ่งมั่นทำงานด้วยความรวดเร็ว ว่องไว เพื่อการบรรลุเป้าหมายในการงาน แล้วพยายามจะฝึกฝนสติในเวลาที่ได้พักจากการทำงานจริงๆ หรือ บางคนอาจกำลังวางแผนการฝึกฝนสติเอาไว้เป็นกิจกรรมที่จะทำในช่วงวัยเกษียณ เหล่านี้คือ ความเข้าใจที่อาจจะทำให้พลาดโอกาสทอง ในการค้นพบความอัศจรรย์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ และ ประโยชน์อันมากมายมหาศาลจากการมีสติระหว่างวัน
การมีสติระหว่างวัน คือ การระลึกรู้ถึงการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน สามารถหล่อเลี้ยงความคิด คำพูด และ การกระทำให้อยู่บนหนทางสู่เป้าหมาย โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น สามารถรับรู้ถึงผู้คน และ ธรรมชาติรอบตัวได้อย่างสดใหม่เป็นปัจจุบัน เกิดความสัมพันธ์ที่ดี การมีสติช่วยให้ประกอบการงานได้สำเร็จด้วยชีวิตที่เป็นสุข
ค้นพบโอกาสทอง
ในขณะที่จิตใจของเราปั่นป่วนเรามักจะกระทำการต่างๆออกไปอย่างไม่รู้ตัว การหล่อเลี้ยงสติระหว่างวัน จะทำให้เราได้ค้นพบโอกาสทอง นั่นคือ โอกาสที่จะได้สัมผัสถึงจิตใจของตัวเองอย่างรู้สึกตัว เช่น รู้สึกได้ถึงความบีบคั้นภายในจิตใจของตัวเอง อาจเพราะกำลังไม่เห็นด้วยต่อบางเรื่องราว เมื่อสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของตนเองอย่างรู้สึกตัว ภาพสิ่งต่างๆใกล้ๆตัวที่เคยเบลอหายไป จะกลับมาแจ่มชัดอีกครั้ง
เรามักคิดว่าอาการปั่นป่วนภายในจิตใจนี้ เกิดจากเรื่องราวภายนอก เกิดจากคนอื่นกระทำบางอย่างไม่ถูกต้อง แต่แท้จริงแล้ว เรื่องราวภายนอกยังคงเป็นเรื่องราวภายนอก แต่อาการปั่นป่วนภายในจิตใจเรานั้น เกิดจากข้อจำกัดของเราเอง ข้อจำกัดของเราอาจทำให้เราออกอาการกระสับกระส่ายเป็นทุกข์ การรับรู้เท่าทันอาการปั่นป่วนนี้ คือ การค้นพบโอกาสทอง
ในโอกาสทองนั้นมีขุมทรัพย์รอเราอยู่ เราไม่ควรจะปล่อยให้โอกาสทองหลุดลอยไป เราสามารถเข้าสู่แบบฝึกหัดต่อไปนี้ เพื่อค้นพบประโยชน์อันอัศจรรย์จากการมีสติระหว่างวัน
7 ขั้นตอนการแปรเปลี่ยน
ความปั่นป่วนภายในจิตใจ
สู่ความปกติสุขด้วยตัวเอง
1. หยุด (to pause)
การค้นพบความปั่นป่วนภายในจิตใจ เปรียบเสมือนการมองเห็นตะกอนในแก้วน้ำใสที่ถูกเขย่า เมื่อเราหยุดนิ่งได้ ตะกอนในน้ำจึงจะเริ่มตกลงสู่ก้นแก้ว การหยุดนิ่งอย่างสำรวม (อินทรียสังวร) จะช่วยให้เราข้ามพ้นจากความร้อนใจ (อวิปปฏิสาร) อาจทำได้ด้วยการสูดลมหายใจเข้าออกยาวๆ เป็นเบื้องต้น และ ปรับผ่อนอาการเกร็งตามส่วนต่างๆของร่างกาย จากนี้เพียงเฝ้ามองอาการที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง
2. ตระหนักรู้ (to be aware)
การเฝ้าสังเกตอาการของใจ โดยไม่กระโจนลงไปร่วมด้วย จะทำให้การรับรู้ของเรา แยกออกจากอาการปั่นป่วน เปรียบเสมือนตะกอนในแก้วน้ำใส ทะยอยตกลงสู่ก้นแก้ว เผยความใสของน้ำให้เห็นบ้างแล้ว ถึงขั้นนี้อาจเกิดอาการปลาบปลื้มใจ (ปราโมทย์) อิ่มเอมใจ (ปีติ) จากการตระหนักรู้ และ ไม่ว่าอย่างไรขอเพียงแค่รู้ ดูอาการในจิตใจของเราต่อไป
3. สงบ (to calm)
การตื่นตระหนกไม่ได้ช่วยให้เราตื่น แต่เป็นความสงบเท่านั้นที่จะทำให้เราตื่นได้อย่างแท้จริง เมื่อตระหนักรู้ถึงความรู้สึกภายในจิตใจของตัวเอง โดยไม่เผลอกระโจนลงไปร่วมจมจ่อมในความรู้สึกนั้น จิตใจของเราก็จะสงบ (ปัสสัทธิ) ความสงบนั้นมีอยู่แล้ว เมื่อเราไม่ทำอะไร เราจึงไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่ออะไร
4. โอบรับ (to embrace)
เมื่อจิตใจสงบ เราก็จะพบความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากความสามารถในการโอบรับความปั่นป่วนภายในจิตใจได้อย่างสบายๆ เสมือนแม่น้ำสงบนิ่ง กำลังสะท้อนภาพในเงาน้ำให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงขั้นนี้ดูเหมือนว่า ความปั่นป่วนภายในใจของเรานั้น ได้หายไปแล้ว แต่อย่าหยุดเพียงแค่นี้นะ ขั้นต่อไป… มามองอย่างลึกซึ้งกันเถอะ
5. มองอย่างลึกซึ้ง (to look deeply)
การมองอย่างลึกซึ้ง เปรียบเสมือนนกที่ต้องบินด้วย 2 ปีก ปีกหนึ่งคือ การมีสมาธิ (สมถะ) และ อีกปีกหนึ่งคือ การพิจารณา (วิปัสสนา) ความสุขโล่งเบาสบายๆ จะช่วยให้เกิดสมาธิ ในขณะที่สมาธิก็จะช่วยให้สามารถพิจารณาเห็นเหตุต่างๆ ที่ก่อประกอบขึ้นเป็นความปั่นป่วนภายในจิตใจของเรา เห็นความสุขในความทุกข์ เห็นความทุกข์ในความสุข แท้จริงแล้วไม่ได้แบ่งแยกขาดจากกัน เห็นความจริง โดยไม่มีการตีความ (ยถาภูตญาณทัสสนะ)
6. เข้าใจ (to understand)
เมื่อมองอย่างลึกซึ้ง เราจะเข้าใจในธรรมชาติแห่งความไม่สมบูรณ์แบบ (impermanence) รู้สึกได้ถึงความแปรเปลี่ยนของทุกสรรพสิ่งในทุกขณะ ไม่มีสิ่งใดคงสภาพเดิมอยู่เสมอ ทุกสิ่งแปรเปลี่ยน แม้แต่เซลล์ในร่างกายของเราก็แปรเปลี่ยนไปอยู่ทุกขณะ เห็นสิ่งหนึ่งก่อประกอบจากสิ่งหนึ่ง ไม่ได้แยกขาดจากกัน (non-self) ทุกสิ่งเป็นดั่งกันและกัน (inter-being) ความเข้าใจ และ ยอมรับในธรรมชาตินี้ นำพาเราสู่การละวางจากการยึด (นิพพิทา วิราคะ)
7. แปรเปลี่ยน (to transform)
ความเข้าใจที่กระจ่างช่วยให้เกิดความแปรเปลี่ยน จากความอีดอัดขัดเคืองใจ กลายเป็นรอยยิ้มจากความเข้าใจ ถือเป็นการตื่นรู้เล็กๆ ระหว่างวัน ช่วยให้ข้อจำกัดของชีวิตลดน้อยลง จิตใจขยับขยายกว้างขึ้น ชีวิตมีศักยภาพมากขึ้น สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคง ภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น แม้สถานการณ์ที่เคยยากลำบากเกิดขึ้น อารมณ์ก็ไม่ปั่นป่วนอย่างที่เคยอีก การตื่นรู้เช่นนี่เอง ก็คือ การได้พบขุมทรัพย์ของชีวิต
การค้นพบโอกาสทองของชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้ในวิถีชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นเมื่อเราเปิดใจ เผชิญกับความจริงอย่างไม่ตีความไปเอง การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน แล้วเฝ้าสังเกตภายในตัวเราเอง ล้วนคือการฝึกฝนจิตใจ
การค้นพบความปั่นป่วนภายในจิตใจระหว่างวัน แล้วสามารถแปรเปลี่ยน สู่ความเป็นปกติสุขได้ ก็คือ โอกาสทองของชีวิต
This writing is inspired by Family Retreat with Plum Village Community 13-17 April 2016