การทำสิ่งเดิมซ้ำๆ มีประโยชน์ช่วยให้เกิดความชำนาญในสิ่งที่ทำ แต่ทุกความชำนาญไม่อาจสำเร็จได้ หากขาดนวัตกรรมที่เหมาะสมตามบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และ หากเรามัวจมจ่อมกับความสำเร็จเดิมๆ จนลืมเงยหน้าขึ้นมามองการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ไม่ฉุกคิดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ ปรับตัว ก็อาจทำให้เราหลุดจากความสำเร็จที่กำลังเชยชมอยู่ตรงนั้น อย่างไม่รู้ตัวได้เลยทีเดียว ความกลัวมักจะแฝงตัวมาอย่างแนบเนียนในความคิด ซึ่งจะหาข้ออ้างให้เราไม่เปลี่ยนแปลง เทคนิคก็คือ เราต้องแหวกก้อนเมฆแห่งความคิด ออกจากเหตุผลเดิมๆ เมื่อไม่มีก้อนเมฆเราจะพบกับท้องฟ้า โลกด้านในของเราจะอยู่ในสภาวะฟ้าใส (beginner’s mind) เมื่อไม่มีก้อนเมฆแห่งความคิดมาบดบัง ก็จะทำให้เรามองเห็นก้อนเมฆแต่ละก้อนได้อย่างแจ่มชัด งานเขียนนี้ จะได้แนะนำแนวทาง แนวคิด มุมมองต่างๆ เพื่อพัฒนาความสามารถในการปรับตัว (adaptability) หนึ่ง) การเรียนรู้แบบรอบคู่ (double loop learning) การเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ จะเกิดขึ้นแบบเหตุกับผล คือ เมื่อทำเหตุแล้วได้ผลดีก็ไปทำเหตุเพิ่ม เมื่อทำเหตุแล้วได้ผลไม่ดีก็ไปลดเหตุลง เช่น เปิดร้านกาแฟแล้วขายดี ก็ไปขยายสาขาเพิ่ม เปิดร้านกาแฟแล้วถ้าขายไม่ดี ก็ไปลดสาขาหรือปิดตัวลง เรียกการเรียนรู้เช่นนี้ว่า การเรียนรู้วงรอบเดี่ยว (single loop learning) ถ้าการตัดสินใจนั้นถูกต้องก็จะโชคดี แต่ถ้าการตัดสินใจนั้นผิดพลาดก็จะผิดอยู่อย่างนั้น ผิดซ้ำๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่มีการทบทวนที่ลึกซึ้งไปกว่าเหตุผลเดิมๆ ยังมีการเรียนรู้อีกแบบ เราเรียกว่า การเรียนรู้แบบรอบคู่ […]